ปชป.ดันตั้งรัฐบาลแห่งชาติแก้วิกฤติชาติ ดึงประธานสภา-ประธานวุฒิฯ ประสาน เชื่อทุกพรรคมีแนวคิดเดียวกัน วอนทุกฝ่ายใจเย็นเหลือเวลาคิดอีก 2 วัน “อภิสิทธิ์”อ้าแขนรับหากสภาดัน นั่งนายกฯจำเป็น
เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 10 กันยายน ที่รัฐสภา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงว่า วิปฝ่ายค้านเห็นว่าการกำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรีในวันศุกร์ที่ 12 ก.ย.นี้ เร็วเกินไป เหมือนรัฐบาลต้องการรวบรัด ทั้งที่ประชาชนหวังจะเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นทางออกของประเทศ ทำให้วิกฤตการณ์ของบ้านเมืองเบาบางลงได้
ดังนั้นระยะเวลาที่เหมาะสม ประธานสภาฯควรเลื่อนการประชุมเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีไปเป็นสัปดาห์หน้า อาจจะเป็นวันจันทร์-พุธก็ได้ ไม่ถือว่าช้าเกินไป เพื่อให้มีเวลาไตร่ตรองในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ คิดว่าน่าจะเป็นช่องทางแก้วิกฤตให้กับประเทศ
นายสาทิตย์ กล่าวว่า ตอนนี้ทุกฝ่ายรู้สึกแปลกใจว่าเหตุใดพรรคพลังประชาชนจึงรีบตัดสินใจกำหนดวันเลือกนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้พรรคพลังประชาชนยังไม่มีความชัดเจนในการเลือกตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี วันนี้พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าการเมืองยังไม่นิ่งพอ ประธานสภาฯควรทบทวนและขยายเวลาการเลือกนายกรัฐมนตรีออกไป ไม่ว่าจะเกิดสูตรการตั้งรัฐบาลอย่างใด ก็ขอให้ประชาชนรับได้ อย่าให้สถานการณ์บานปลาย หลักใหญ่คือต้องช่วยกันประคับประคองประเทศ
ส่วนถ้าหลังจากวันหยุดสุดสัปดาห์นี้พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลจะจับขั้วตั้งรัฐบาลกันต่อไป พรรคประชาธิปัตย์ก็ยอมรับได้ แต่ถ้ามีการเสนอชื่อนายสมัคร สุนทรเวชให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เกรงว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะไม่สามารถคลี่คลายวิกฤตได้ เพราะหลังจากมีข่าวโฆษกพรรคพลังประชาชนแถลงมติที่ประชุมพรรคพลังประชาชนสนับสนุนนายสมัคร กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ก็ปรากฏว่ามีเสียงสะท้อนจากประชาชนและนักธุรกิจที่เป็นกังวล
“มีสื่อต่างประเทศแสดงความสงสัยที่นายสมัคร ต้องออกจากตำแหน่งเพียงแค่จัดรายการทำอาหารเท่านั้น แต่ความจริงมีประเด็นเรื่องจริยธรรม ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการสร้างหลักฐานเท็จขึ้นมา ดังนั้นนายสมัคร จึงไม่เหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ” ประธานวิปฝ่ายค้านกล่าว
นอกจากนี้อยากให้นำความเห็นของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าที่ระบุว่าการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีประเด็นเรื่องการสร้างเอกสารหลักฐานเท็จ ซึ่งการนำนายสมัคร กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จึงไม่เหมาะสมในแง่จริยธรรมของผู้บริหารประเทศ ดังนั้นการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงไม่ควรจำกัดอยู่เฉพาะนักการเมืองคุยกันเท่านั้น แต่ควรฟังความเห็นจากประชาชน และทุกพรรคการเมืองน่าจะพูดคุยกัน ฟังความเห็นกัน เพื่อหาทางออก เพราะจากผลสำรวจของเอแบคโพลล์ ยังแสดงความเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดการปฏิวัติขึ้น เราไม่อยากเห็นบ้านเมืองถอยหลังกลับไปอีก
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ประวิงเวลาการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะหวังให้มีการสลับขั้ว ให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถตั้งรัฐบาลได้ใช่หรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ไม่ได้หวังอะไร ขณะนี้มีการกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์อย่างนี้ แต่พรรครัฐบาลต้องคำนึงถึงความเป็นจริงว่าการเมืองยังไม่นิ่ง
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์พร้อมทำงานให้บ้านเมืองแม้พรรคพลังประชาชนจะได้เป็นรัฐบาลแต่ถ้าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเดิมไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็มีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในฐานะพรรคลำดับถัดไป โดยหากรวมเสียงกับพรรคขนาดเล็กแล้ว จะมีเสียงมากกว่าพรรคพลังประชาชนถึง 20 กว่าเสียง ซึ่งเกินครึ่งหนึ่งและเพียงพอต่อการผ่านกฎหมายได้ แต่หากเป็นสูตรพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชนนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะแนวทางของทั้งสองพรรคไม่ตรงกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าพร้อมสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายสาทิตย์ กล่าวว่า ตั้งแต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ พรรคประชาธิปัตย์พร้อมหนุนนายอภิสิทธิ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนที่มีข่าวว่ามีส.ส.กลุ่มอีสานพัฒนา พรรคพลังประชาชนยอมรับว่ามีการคุยกับพรรคประชาธิปัตย์แล้วนั้น สำหรับตนยังไม่มีใครมาคุย ไม่ทราบว่าเขาไปคุยกับใคร
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้เรายังไม่ได้ยินการแสดงความรับผิดชอบ คำขอโทษและคำแสดงความเสียใจจากนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคพลังประชาชน หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เพราะนายสมัคร โกหกศาล ให้การไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ปลอมแปลงเอกสารย้อนหลัง
“สุเทพ”หนุนรัฐบาลแห่งชาติดันอภิสิทธิ์นั่งนายกฯ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์อาจจะมีการจัดตั้งรัฐบาลแข่งว่า อย่าพูดว่าจัดตั้งรัฐบาลแข่งหรือไม่แข่งเลย แต่เรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติ และพรรคการเมืองได้ใช้โอกาสนี้ประชุมหารือกันอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ หากทุกพรรคการเมืองร่วมมือกันก็จะสามารถแก้วิกฤติได้
ส่วนการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะเป็นทางออกหนึ่งหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ถ้าประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ปรึกษากันก็จะมีทางออก ทางเลือกที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ จะเรียกรัฐบาลกลาง รัฐบาลพิเศษ รัฐบาลแห่งชาติก็แล้วแต่ที่ประชุมจะปรึกษาหารือกัน หากเห็นตรงกันก็สามารถทำได้ คำว่ารัฐบาลแห่งชาติอาจจะเข้าใจยาก สมมุติที่ประชุมตกลงกันเลือกท่านใดท่านหนึ่งในสภาฯ เป็นนายกฯ
โดยมีข้อตกลงว่านายกฯ ท่านนี้จะต้องจัดตั้งรัฐบาลที่มีตัวแทนมาจากพรรคการเมือง กลุ่มต่าง ๆ ภาคประชาชน และคนนอก เพื่อร่วมเป็นรัฐบาลพิเศษ ปรับพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยสักระยะ นำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ก็สามารถรักษาประชาธิปไตย และบ้านเมืองคืนสู่สงบได้ แต่ทั้งหมดอยู่ที่การประชุมของคณะกรรมการ รวมทั้งกลุ่มอื่น ๆ ที่จะเชิญขึ้นมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า สถานการร์ขณะนี้นายอภิสิทธิ์ เหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์เหมาะสมอยู่แล้ว ถ้ามองว่าเมื่อพรรครัฐบาลมีปัญหาไม่สามารถดำเนินการได้ ก็เป็นเรื่องของพรรคฝ่ายค้าน เมื่อนายอภิสิทธิ์เป็นผู้นำฝ่ายค้านฯ ก็มีสิทธิ์ตามประเพณีนิยมของประชาธิปไตยที่จะเป็นหัวหน้าคณะจัดตั้งรัฐบาล
ต่อข้อถามที่ว่าจำเป็นหรือไม่ว่านายกฯจะต้องเป็นส.ส.นายสุเทพ กล่าวว่า พูดตามหลักการก็จะต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง หรือพูดให้ชัดคือต้องเป็นนายอภิสิทธิ์ ทั้งนี้ทั้งนั้นการเมืองไม่ใช่เป็นเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ความคิดของตนก็ไม่ใช่เป็นที่ยุติ ต้องอยู่ที่ทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน อย่างไรก็ตามสมมติที่สภาฯ โหวตเลือกนายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ตนเชื่อว่าในฐานะนายกฯ ในช่วงเวลาพิเศษอย่างนี้จะเชิญฝ่ายต่าง ๆ มาร่วมครม. เพราะเห็นว่าการแก้ปัญหา และการรักษาระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งสำคัญ ส่วนจะเชิญพันธมิตรฯ มาร่วมด้วยหรือไม่นั้นยังไม่ขอลงรายละเอียด เป็นการพูดกว้างๆ รอให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกฯ ก่อน
ต่อข้อถามว่าได้มีการพูดคุยกับพรรคร่วมรัฐบาลหรือยังเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุย แต่คิดว่าวันนี้เราคงจะได้เห็นท่าทีที่ชัดเจนของฝ่ายรัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าฝ่ายรัฐบาล และพรรคร่วมยังเกาะกลุ่มกันเหนียวแน่น ยังกอดคอยืนยันจะเป็นรัฐบาลต่อไป ตนก็คงไม่ต้องไปคุยอะไร แต่หากทุกคนได้ปรึกษาหารือกันแล้วคิดว่าเราควรหาทางออกร่วมกัน อย่างนี้ก็คุยกันได้
เมื่อถามว่าวันนี้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อยากได้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกฯ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายชวนไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และไม่คิดว่านายชวนจะรับหลักการนี้
เมื่อถามว่า วันนี้ที่พรรคพลังประชาชนจะไปคุยกับพรรคชาติไทย ซึ่งอาจจะมีการเสนอชื่อนายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย มาเป็นนายกฯเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนต้องรอฟังท่าทีของฝ่ายรัฐบาล ถ้าฝ่ายรัฐบาลคิดว่าอยากจะคุยกัยพรรคประชาธิปัตย์ ตนก็พร้อมที่จะคุยด้วย โดยมารยาทก็ต้องให้เขาแก้ไขปัญหาภายในของเขาก่อน ตกลงกันก่อน
ส่วนเรื่องการเรียกประชุมสภาฯ เพื่อเลือกนายกฯ คนใหม่ในวันศุกร์ที่ 12 ก.ย.นี้นั้นนายสุเทพ กล่าวว่า ตนคิดว่าเร็วไป อยากจะให้ทุกฝ่ายได้ช่วยพูดกับประธานสภาฯ ว่านี่เป็นโอกาสของประเทศไทยทำไมจะต้องรวบรัด ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อเวลา แต่ให้เวลาทุกฝ่ายตั้งสติ เรารีบตั้งรัฐบาลไปหากมีปัญหาก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร จะประชุมวันจันทร์ที่ 15 ก.ย.ก็ได้น่าจะเหมาะสมกว่า ทั้งนี้ ตนคิดว่าฝ่ายนิติบัญญัติควรจะเชิญทุกฝ่ายไปประชุมวันนี้เลยก็จะดี
“อภิสิทธิ์”อ้าแขนรับหากสภาดันนั่งนายกฯจำเป็น
ขณะที่ล่าสุดนายอภิสิทธิ์ได้กล่าวถึงแนวคิดการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า ตนคิดว่าวันนี้สิ่งที่สังคมต้องการเห็นคือการคลี่คลายวิกฤติ ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกฝ่ายออกมาบอกว่าปัญหาทางการเมืองเจอทางตัน ไม่ว่าจะคิดอย่างไรกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็แล้วแต่ ผลคำตัดสินออกมาอย่างนี้ก็ถือว่าทำให้สังคมมีทางเลือกมากขึ้น ตนคิดว่าในช่วง 2 วันก่อนที่จะมีการโหวตเลือกนายกฯ อยากให้ทุกพรรคและส.ส.ทุกคนคิดว่าจะใช้โอกาสนี้จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตของบ้านเมืองได้อย่างไร ส่วนการปรึกษาหารือของพรรคร่วมรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
เมื่อถามว่ามีโพลล์ล่าสุดสนับสนุนการตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อช่วยคลี่คลายวิกฤตทางการเมือง หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ทุกพรรคน่าจะหันมาช่วยกันคิดหาทางออกให้กับประเทศ ใจตนคิดว่าแม้แต่ประธานสภาฯและประธานวุฒิสภาน่าจะมีบทบาทต่อเนื่องต่อไปเพื่อทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่นำไปสู่การแก้วิกฤต ซึ่งเวลานี้หากใครจะเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือจะเป็นผู้นำรัฐบาลคงไม่มีประโยชน์หากบ้านเมืองอยู่ในสภาพที่บริหารราชการลำบากหรือบริหารแทบไม่ได้เลย สุดท้ายประชาชนก็จะเจอปัญหาเศรษฐกิจความตึงเครียด จึงอยากให้ทุกพรรคเปิดใจกว้างและลองช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐบาลแห่งชาติแต่ขณะนี้กลับเปลี่ยนท่าทีเห็นด้วย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลแห่งชาติ ในความหมายที่บอกเพียงแค่ว่าทุกพรรคเข้าไปคงไม่ใช่คำตอบ ตนคิดว่าเสียงเรียกร้องจากประชาชนมองเข้าไปแล้วเห็นว่าแต่ละพรรคเข้าไปแบ่งอำนาจกันคงไม่ใช่หากพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติอย่างแท้จริงคงต้องพูดถึงการมีประชาชนทุกฝ่ายทุกกลุ่มสามารถเข้าไปมีส่วนรวมต่อภารกิจของรัฐบาลที่สามารถกำหนดได้ชัดเจน ไม่ใช่ว่าเป็นไปโดยครบวาระของสภาฯ ดังนั้นต้องมีให้ชัดว่าจะมีรัฐบาลพิเศษเข้ามาเพื่อทำอะไรถ้าอย่างนั้นถือว่าเป็นรัฐบาลแห่งชาติ หากจะเริ่มต้นและจะทำได้หรือไม่ก็อยู่ที่การพิจารณาของทุกพรรคการเมือง ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เคยบอกว่าถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่ง แต่ถ้าจะมาพูดว่าพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมรัฐบาลด้วยคงไม่ใช่คำตอบที่สังคมต้องการ
เมื่อถามว่า แสดงว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาลคือต้องเป็นรัฐบาลแห่งชาติใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนยังไม่ได้พูดในแง่ที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะมาเป็นรัฐบาลแต่บอกว่าทางเลือกทางออกมีมากขึ้นหลังจากมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ เราอย่าไปรีบทำให้มันกลับสู่ทางตันทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิด อย่าไปคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านมันไม่สำคัญเท่ารัฐบาลที่ตั้งขึ้นมาที่ต้องนำพาบ้านเมืองหลุดพ้นจากตรงนี้ไปให้ได้ ซึ่งต้องเริ่มคิดตั้งแต่การจัดตั้งต้องให้มีความชัดเจนและเจตนารมณ์ในการจัดตั้ง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์
ผู้สื่อข่าวถามว่าพรรคพลังประชาชนสามารภจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องมีความชัดเจนว่าตั้งขึ้นมาแล้วต่างกับรัฐบาลปกติอย่างไรหากจะไปตามแนวทางนี้ แต่แนวทางนี้ไม่ใช่แนวทางเดียวที่จะแก้ไขปัญหา
เมื่อถามต่อว่ามีแนวทางอื่นนอกจากแนวทางการตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในสถานการณ์แบบนี้ไม่มีทางออกไหนที่จะทำให้ทุกฝ่ายพอใจได้ แต่สิ่งที่ต้องทำคือต้องสร้างรัฐบาลที่มีพลัง ที่จะสามารถดึงให้ทุกฝ่ายหันมาคุยกัน ยอมถอยกันได้ไม่เสียความคิดหลักการ เพื่อให้บ้านเมืองหลุดพ้นจากสภาพที่เป็นมา
ผู้สื่อข่าวถามว่าได้นำแนวคิดเรื่องตั้งรัฐบาลแห่งชาติไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าทุกพรรคการเมืองเจอกันก็ต้องคุยกันอยู่แล้ว ซึ่งแต่ละพรรคการเมืองก็จะมีกระบวนการภายในพรรคว่าต้องทำอย่างไร เบื้องต้นโดยมารยาทตนคิดว่าในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยกันเองก่อนว่าจะมีความเห็นอย่างไร
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนในการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เหตุผลเดียวที่ตนจะโน้มน้าวคือถึงเวลาที่ต้องคิดหาทางออกให้กับบ้านเมืองจริงๆ หากนำบ้านเมืองกลับไปสู่ 2-3 วันที่ผ่านมาคิดว่าบ้านเมืองคงไม่ได้อะไรแม้ฝ่ายไหนก็ตาม ดังนั้นอยากให้ใช้เวลาที่เหลืออยู่คิดให้ดีว่าจะใช้โอกาสตรงนี้แก้ไขปัญหาของบ้านเมืองอย่างไร เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่ามีอดีตคมช.เข้ามาร่วมในการจัดตั้งรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ทราบเป็นเรื่องของส.ส.และพรรคการเมืองที่ต้องตัดสินใจกันเอง
เมื่อถามว่าหากมีการตั้งรัฐบาลแห่งชาติพรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อมแค่ไหน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงจะไปตั้งเงื่อนไขล่วงหน้าคงไม่เหมาะ ถ้าจะเป็นรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลพิเศษจริงๆต้องมีการแสดงเจตนาให้ชัดว่าไม่ใช่รัฐบาลในสภาวะทั่วไป ไม่ใช่รัฐบาลที่พรรคการเมืองมาจัดสรรมาแบ่งโควตา ต้องเอาเจตนารมณ์ตรงนี้ก่อน
เมื่อถามต่อว่า หากเจตนารมณ์ชัดเจนนายอภิสิทธิ์พร้อมเป็นนายกฯหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงต้องคุยกันก่อนและเลือกทางที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้เกิดได้ และวันนี้ไม่อยากให้เป็นเรื่องการเสนอตัว ตนต้องการแสวงหาความเป็นไปได้ที่พรรคการเมืองจะมาในแนวทางนี้ ถ้ามาทางนี้ไม่ได้ก็คิดหาทางอื่นต่อ อย่าพึ่งไปกำหนดเป็นเงื่อนไข ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการสร้างเงื่อนไขและการต่อรองกัน หน้าที่ของทุกคนตอนนี้เท่าเทียมกัน ช่วยกันคิดว่าอะไรเหมาะสมที่สุดสำหรับบ้านเมืองอย่าพึ่งไปคิดว่าเป็นคนนั้นคนนี้ พรรคนั้นพรรคนี้
เมื่อถามต่อว่าหากปล่อยให้พรรคพลังประชาชนเข้ามาจะเหมือนเป็นการเปิดพื้นที่ให้พันธมิตรฯหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าเป็นรัฐบาลพิเศษต้องเปิดพื้นที่ให้กับทุกกลุ่ม เมื่อถามว่าได้มีการประสานเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วหรือไม่นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยและตนขอรับรองว่าในสถานการณ์ปัจจุบันนักการเมืองทุกพรรคคุยกันถือว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดาของขบวนการทางการเมือง ซึ่งหากคุยกันเสร็จทุกพรรคก็กลับไปทบทวนและกำหนดจุดยืนของตัวเอง ดังนั้นต้องเคารพระบบของพรรคด้วย ซึ่งขณะนี้เป็นเพียงการนำความคิดต่างๆมาพูดคุยกันคงไม่ถึงขั้นลงลึกว่าจะต้องมาตอบอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งตนคิดว่าหลังจากวันพรุ่งนี้ไปทางพรรคการเมืองต่างๆคงจะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไง พรรคร่วมรัฐบาลฯอาจตัดสินใจว่าจะทำการเมืองต่อก็ต้องดูต่อไป
ผู้สื่อข่าวถามว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติจะขัดรัฐธรรมนูญหรือวิถีตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าหากจะใช้แนวทางนี้ต้องแสดงภารกิจที่จะทำให้ชัดเจน และยอมรับในรูปแบบพิเศษของมัน หากไม่ไปตามแนวทางนี้ก็ว่ากันไปตามปกติ ซึ่งนายกฯก็มาจากส.ส.ก็ซึ่งก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่อาจจะไม่สบายใจว่าไม่มีฝ่ายค้าน หากจะทำแนวทางนี้คนที่ประสานต้องเป็นประธานสภาฯและประธานวุฒิสภา ซึ่งวันนี้ภารกิจของสภาฯจะมาบอกว่าตั้งรัฐบาลแห่งชาติแล้วจบคงไม่ใช่ แต่ต้องตั้งรัฐบาลที่แก้ไขปัญหาได้
เมื่อถามว่าพร้อมเป็นนายกฯหรือไม่หากพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ ให้นายอภิสิทธิ์เป็นคนแก้ปัญหาวิกฤตชาติ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าหากสภาฯเห็นชอบก็พร้อมครับ
"สุเทพ" ปฏิเสธต่อสาย คมช.เปลี่ยนขั้วพรรคร่วมรัฐบาล
เมื่อเวลา 13.00 น. นายสุเทพ กล่าวถึงกระแสข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อสายอดีตคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อให้ช่วยประสานพรรคร่วมรัฐบาลให้เปลี่ยนขั้วมาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ไม่มีการต่อสาย ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองหรือคนอื่นๆ เพราะยังไม่ใช่เวลาของตน เพียงแต่นำเสนอแนวความคิดให้พรรคการเมืองหันหน้ามาปรึกษาหารือกัน ซึ่งน่าจะตกลงกันได้ว่าจะเลือกหัวหน้าพรรคคนใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี และตั้งรัฐบาลพิเศษขึ้นมา โดยไม่จำกัดเฉพาะนักการเมือง แต่เชิญคนนอกมาร่วมด้วย ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับประชาชน และต่างชาติ นอกจากนี้หากเห็นว่ารัฐธรรมนูญยังไม่สมบูรณ์ ก็ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาร่วมกัน แล้วก็แก้ไข อย่างไรก็ตาม หลังจากมีรัฐบาลพิเศษ จากนั้นก็เปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคใครพรรคมัน
เมื่อถามว่าการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ เป็นการสมประโยชน์กันของทุกฝ่ายหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ ประโยชน์ของส่วนรวม ถ้าเรายังติดยึดกับผลประโยชน์ของนักการเมือง หรือพรรคการเมือง เราก็แก้ปัญหาชาติไม่ได้
ส่วนที่มีกระแสข่าวระบุว่าอดีตคมช.ที่พรรคประชาธิปัตย์ต่อสายคุยด้วย คือ พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “ กับ พล.อ.วินัยไม่ได้คุยกัน แต่กับลูกชาย (นายสกลธี ภัททิยกุล ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์) คุยกันประจำ เพราะเราอยู่พรรคเดียวกัน”
เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่ามีการพูดคุย เพื่อทาบทามกลุ่มอีสานพัฒนา พรรคพลังประชาชนมาร่วม นายสุเทพ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มอีสานพัฒนา และไม่ได้ทาบทามใคร แต่หากจะมีการพูดคุยกันก็คงไม่ใช่เรื่องแปลก
ด้านนายสาทิตย์ กล่าวว่า แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าพล.อ.วินัย เป็นพ่อของนายสกลธี แต่ตนยืนยันว่าข้อเท็จจริงทำไม่ได้ เพราะขณะนี้พรรคอื่นก็ยังไม่ได้ข้อสรุป อีกทั้งตนไม่ทราบว่าหากให้พล.อ.วินัยมาต่อสาย จะให้มาพูดในฐานะอะไร ดังนั้น การปล่อยข่าวลักษณะนี้ มีเป้าหมายเพื่อต้องการดิสเครดิตพรรคประชาธิปัตย์
เมื่อถามถึงกรณี ที่มีกระแสข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์เสนอเงินให้ ส.ส.พรรคพลังประชาชนคนละ 30 ล้าน เพื่อให้ยกมือสนับสนุนให้นายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี นายสาทิตย์ กล่าวว่า “ ส.ส. 30 คน ต้องใช้เงิน 900 ล้าน และพรรคจะไปเอาเงินมากขนาดนั้นมาจากไหน เพราะขณะนี้ ยังต้องจัดงานระดมทุนเข้าพรรคเลย”
มาจาก http://www.komchadluek.net/2008/09/10/index.php
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
1 ความคิดเห็น:
อภิสิทธิ์คงอยากเป็นนายกมาก ถึงได้เสนอตัวเองเป็นนายก ทั้งๆที่ไม่ดูเลยว่าเสียงการจัดตั้งพรรคของตัวเองมีเท่าไหร่ คงไม่ได้เป็นนายกแล้วแหละ
นางสาวธัญญา แตงน้อย 5131601343 sec2
แสดงความคิดเห็น