จีน
เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ หนังสือเอเชี่ยน วอลล์สตรีต เจอร์นัล วิเคราะห์การประชุมสภาประชาชนแห่งชาติจีน ซึ่งเปิดสมัยประชุมในวันพุธที่ 5 มีนาคม ว่า จะมีการปรับโครงสร้างรัฐบาลครั้งใหญ่ นับตั้งแต่จีนเริ่มมีนโยบายปฏิรูป และเปิดประเทศหลังยุค "ปฏิวัติวัฒนธรรม" ในปี 1975 หรือ พ.ศ.2518 ที่จะมีการกำหนดตัวผู้นำจีนในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะสภาประชาชนแห่งชาติจีน 5 ปีจึงจะมีการประชุมครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ก็คงจะเป็นการลงมติของสภาประชาชนแห่งชาติจีนเลือก "ประธานสาธารณรัฐประชาชน" หรือ "ประธานาธิบดี" ซึ่งคาดว่าท่านหู จิน เทา คงจะได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีก วาระหนึ่ง และท่านหู จิน เทา ก็คงเสนอท่านเหวิน เจีย เป๋า ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้สภาประชาชนแห่งชาติรับรอง อีกวาระหนึ่งเช่นเดียวกัน
ที่สำคัญก็คือท่านหู จิน เทา ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการและประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะได้เสนอท่านลี จิ้น ผิง เป็นรองประธานสาธารณรัฐประชาชน และท่านหลี่ เคอ เฉียง เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วย ท่านลี จิ้น ผิง ปัจจุบันเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง ก่อนที่ท่านจะถึงแก่อสัญกรรม ได้วางหลักการไว้แน่ชัดในธรรมนูญของพรรคว่า การคัดสรรผู้นำพรรคและผู้นำรัฐบาลต้องทำเป็นระบบ 5 ปีล่วงหน้า เพื่อจะได้ดูผลงานและความสามารถเพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นไปอย่างเรียบร้อย
ขณะเดียวกัน ผู้นำของจีนทั้งที่พรรคและรัฐบาล คือตัวประธานสาธารณรัฐประชาชน และนายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระ หรือเกิน 10 ปีไม่ได้ เมื่อดำรงตำแหน่งครบ 5 ปีในวาระแรกต้องเตรียมผู้นำไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้ไม่ต้องแย่งชิงอำนาจกันเหมือนสมัยที่ท่านประธานเหมา เจ๋อ ตุง ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งเกิดความวุ่นวายทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา การส่งต่ออำนาจไม่เป็นไปอย่างสันติ ท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง จึงแก้รัฐธรรมนูญทั้งของสาธารณรัฐประชาชน และของพรรคให้การเปลี่ยนถ่ายอำนาจเป็นไปตามระเบียบและอย่างสันติ
จีนปกครองโดยระบบพรรคเดียวคือ พรรคคอมมิวนิสต์จีน แม้จะมีการอนุญาตให้มีพรรคอื่นก็เป็นพรรคเล็กๆ ไม่มีความหมาย ระบบการปกครองเป็นระบบคู่ขนานไประหว่างพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาล ทั้งที่เป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภาครัฐที่เรียกว่า "รัฐบาลกลาง" ซึ่งประกอบด้วยรัฐบาล สภาประชาชนแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาประชาชนหรือสภาสูง และศาล ส่วนของพรรคที่เรียกว่าศูนย์กลางพรรคคู่กับสภาประชาชนแห่งชาติและสภาที่ปรึกษาประชาชนแห่งชาติก็คือ สมัชชาพรรค
สมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยงานพรรค ซึ่งมีการจัดตั้ง ตั้งแต่หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด มณฑล เทศบาล เขตปกครองตนเอง และเขตปกครองพิเศษ แต่ละระดับมีคณะกรรมการพรรคเลือกตั้งจากสมาชิกพรรค มีการเลือกตั้งโดยตรงในระดับหมู่บ้านและตำบล กรรมการระดับอำเภอ กรรมการตำบลและหมู่บ้านเป็นผู้เลือก กรรมการระดับจังหวัดกรรมการระดับอำเภอเป็น ผู้เลือก ระดับมณฑลมีกรรมการระดับจังหวัดเป็นผู้เลือก นอกจากนั้นก็มีผู้แทนจากองค์กรแนวร่วม องค์กรสตรี ผู้แทนชนเผ่า ผู้แทนกองทัพทั้ง 3 เหล่าทัพ รวมเป็นสมาชิกสมัชชาพรรค สมัชชาพรรคจะ ประชุมทุกๆ 5 ปีเพื่อเลือกคณะ "กรรมการกลางพรรค" กรรมการกลางพรรคมีจำนวนทั้งสิ้น 300 คน คณะกรรมการกลางพรรคเป็นผู้เลือก "กรมการเมือง" หรือภาษาฝรั่งนิยมเรียกว่า "poliburo" ปัจจุบันมีสมาชิกสามัญ 24 คน และมีสมาชิกสมทบ 1 คน รวมเป็น 25 คนในสมาชิก 24 คน เลือกคณะกรมการเมืองประจำ 9 คน
จำนวน 9 คนในปีนี้จะมีการคัดเลือกผู้นำ 1 หรือ 2 คนไว้ล่วงหน้า ที่จะก้าวเข้าไปเป็นเลขาธิการพรรคในอีก 5 ปีข้างหน้า แทนเลขาธิการพรรคคนปัจจุบันคือ ท่านหู จิน เทา นอกจากจะเป็นผู้นำสูงสุดของพรรคแล้ว ยังจะเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต่อสภาประชาชนแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง "ประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน" หรือประธานาธิบดี อันเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดของ "รัฐ" และจะได้รับเลือกเป็น "ประธานคณะกรรมการทหาร" ของพรรค พร้อมกันนั้นจะได้รับการเสนอชื่อให้สภาประชาชนแห่งชาติดำรงตำแหน่ง "ประธานกรรมาธิการทหาร" ของสภาประชาชน ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา "สำนักงานบัญชาการกองทัพปลดแอกประชาชนจีน" ด้วย
ตำแหน่งประธานคณะกรรมการทหารของพรรค และประธานกรรมาธิการทหารของสภาประชาชนแห่งชาติ ตั้งแต่ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2492 ซึ่งถือเป็น "วันชาติ" ของจีน มีเพียง 4 คนคือ ท่านเหมา เจ๋อ ตุง ท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง ท่านเจียง เจ๋อ หมิน และท่านหู จิน เทา
กรรมการประจำของกรมการเมืองก็เลือกสมาชิกอีกคนหนึ่งเตรียมไว้ล่วงหน้า 5 ปีเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรี การที่พรรคกรองและเลือกตั้งผู้นำพรรคไว้ล่วงหน้าก่อนเป็นเวลา 5 ปี และให้อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย หรือ 10 ปีเป็น "นวัตกรรม" ทางการเมืองของท่านเติ้ง เสี่ยว ผิง
ภายในพรรคจะมี "สำนักงานเลขาธิการพรรค" ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานบริหารของพรรค ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขาธิการ สมัชชาพรรค คณะกรรมการกลางพรรค กรรมการกรมการเมือง กรรมการถาวรกรมการเมือง และทำหน้าที่เลขานุการคณะกรรมการชุดต่างๆ ของพรรค มีเลขาธิการพรรคซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดเป็นหัวหน้า
ทางด้าน "อำนาจรัฐ" หรือ "รัฐบาล" ในระดับภูมิภาคหรือท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานเดียวกันก็แบ่งเป็นมณฑล เขตปกครองตนเอง เทศบาล เขตปกครองพิเศษฮ่องกงและมาเก๊า ไต้หวัน จีน จึงมีแต่ท้องถิ่นไม่มีภูมิภาค แต่ละเขตปกครองแบ่งเป็นจังหวัดหรือเขต อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และหมู่บ้านชนกลุ่มน้อย แต่ละหน่วยงานก็มี "สภาประชาชน" หน่วยนั้นๆ มีผู้ว่าการมณฑล ผู้ว่าการเขตปกครองตนเอง นายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้า เลือกตั้งโดย "สภาประชาชน" ประจำมณฑล เขตปกครองตนเอง จังหวัด แยกลงไปก็เป็นอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน หรือหมู่บ้านชนชาติส่วนน้อย นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้งของสภาประชาชนในระดับต่างๆ อำเภอ ตำบล หมู่บ้านก็เป็นท้องถิ่น
สภาประชาชนระดับหมู่บ้าน ตำบล มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นๆ ส่วนตั้งแต่ระดับอำเภอขึ้นไปมาจากการเลือกตั้งของสภาประชาชนระดับล่าง เป็นชั้นๆ ลดหลั่นกันไป
สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติมาจากการเลือกตั้งของสภาประชาชนของมณฑล เขตปครองตนเอง เทศบาลนคร ที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง กองทัพ รวมทั้งจากเขตปกครองพิเศษฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ผู้แทนของสภาประชาชนแห่งชาติ มีจำนวนไม่เกิน 3,000 คน ขณะนี้มีสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติจำนวน 2,985 คน
สภาประชาชนแห่งชาติอยู่ในตำแหน่งคราวละ 5 ปี จำนวนผู้แทนของสภาประชาชนมาจากทุกระดับตั้งแต่หมู่บ้าน ไปถึงเขตปกครองตนเอง และอื่นๆ มีจำนวน 3.2 ล้านคน จำนวนสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีประมาณ 70 ล้านคน จากประชาชน 1,300 ล้านคน สภาประชาชนแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งประธานและรองประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประธานาธิบดี ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของประธานสาธารณรัฐ
ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานกรรมาธิการ ผู้อำนวยการตรวจเงินแผ่นดิน โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี ที่สำคัญที่สุดเป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งประธานกรรมาธิการ สมาชิกกรรมาธิการทหารแห่งชาติ บุคลากรในคณะกรรมาธิการทหาร โดยคำแนะนำของประธานคณะกรรมการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยปกติทั้งประธานกรรมาธิการ กรรมาธิการทหารจะเป็นคณะเดียวกันกับประธานและคณะกรรมการของพรรค ทหารกองทัพปลดแอกประชาชนจีนจึงเป็นทั้งของชาติและของพรรค
สภาประชาชนแห่งชาติมีสมัยประชุมสามัญ 5 ปีครั้ง สภาประชาชนแห่งชาติจะแต่งตั้งกรรมาธิการชุดต่างๆ ที่สำคัญคือ คณะกรรมาธิการประจำ ขณะนี้มีจำนวน 155 คน มีสมัยประชุมทุกปีในไตรมาสแรกของปี และมีหน้าที่พิจารณาอนุมัติเรื่องต่างๆ แทนสภาประชาชนแห่งชาติในช่วงปี 1975-1982 รัฐธรรมนูญจีนได้ยกเลิกตำแหน่งประธานสาธารณรัฐประชาชน หรือตำแหน่งประธานาธิบดี ให้ประธานคณะกรรมาธิการประจำของสภาประชาชนจีนแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานสาธารณรัฐประชาชนแทน ทั้งในแง่บริหาร พิธีการและทางการทูต การตั้งอนุกรรมาธิการ
เติ้ง เสี่ยว ผิง ท่านไม่ได้เป็นประธานสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือเมื่อท่านเจียง เจ๋อ หมิน พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค และประธานสาธารณรัฐประชาชน ท่านก็ยังดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการทหารของสภาประชาชน และประธานกรรมการทหารของพรรคต่อมาอีก 2 ปีจึงลาออกและให้ท่านหู จิน เทา ขึ้นแทน
ในการประชุมสมัชชาพรรคและการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ ซึ่ง 5 ปีจะมีการประชุมครั้งหนึ่ง คราวนี้ก็ได้เลือกทายาทไว้ทั้ง 2 คน คือว่าที่เลขาธิการพรรคหรือประธานสาธารณรัฐ และผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอีก 5 ปีข้างหน้าอย่างที่เป็นข่าว
ระบบการปกครองที่ยังเป็นระบบคอมมิวนิสต์อยู่ก็เหลือแต่จีน เวียดนาม เกาหลีเหนือ ลาว และคิวบาเท่านั้น
วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น