วันอังคารที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2551

นายกฯ เรียกประชุมแกนนำพรรค


หลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ตัดสินใจใช้รัฐสภาเป็นเวทีเสนอแนะวิธีแก้ไขปัญหาการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ปรากฏว่า การประชุมร่วมรัฐสภากลับกลายเป็นเวทีปะทะคารม ระหว่าง ส.ส.ประชาธิปัตย์ และ ส.ว.บางส่วน กับนายสมัครและ ส.ส.พลังประชาชน ทำให้ไม่สามารถหาข้อสรุปในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่กำลังเข้าสู่จุดวิกฤตินั้น
รปภ.เต็มพิกัดอารักขาเข้ม “สมัคร”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 ก.ย.ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้เดินทางไปเฝ้ารับเสด็จสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานไอทียู เทเลคอม เอเชีย 2008 โดยมีทีมงานรักษาความปลอดภัยของนายกฯยังคงแน่นหนา ใช้ 3 ชุดเต็มทีมเหมือนเช่นเคย ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์กลุ่มพันธมิตรฯบุกยึดทำเนียบรัฐบาล
เรียกแกนนำพรรค พปช.หารือด่วน
จนถึงเวลา 12.30 น. นายสมัครได้เดินทางออกจากอิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยให้เจ้าหน้าที่ติดตามแจ้งยังผู้สื่อข่าวผ่านทางวิทยุสื่อสารว่า นายกฯขอเวลาส่วนตัว โดยแยกขบวนลงทางด่วนงามวงศ์วาน ขณะที่ผู้สื่อข่าวไปดักรอนายกฯที่รัฐสภา และปักหลักเป็นเวลานาน จนกระทั่งทราบว่า นายกฯได้เรียกประชุมแกนนำพรรค ในเวลา 16.00 น. ที่พรรคพลังประชาชน ถนนเพชรบุรี เพื่อหารือถึงสถานการณ์ทางการเมือง โดยมีแกนนำเข้าร่วมประชุม อาทิ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกฯ และ รมว.คลัง ในฐานะเลขาธิการพรรค นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ยุติธรรม ในฐานะรองหัวหน้าพรรค นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองเลขาธิการพรรค นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ส.ส. สัดส่วน นายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ รมว.การพัฒนาสังคมฯ นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รมช.ศึกษาธิการ นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ โดยใช้เวลาหารือ 2 ชม. ก่อนที่นายสมัครจะเดินทางออกจากพรรคในเวลา 18.00 น.
ยังไม่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเวลานี้
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวภายหลังการหารือว่า การหารือวันนี้เป็นการพูดถึงแนวทางที่นายกฯได้เคยประกาศไว้ คือจะคลี่คลายปัญหาให้ยุติด้วยความละมุนละม่อม ไม่เสียเลือดเสียเนื้อ โดยมีหลายแนวทาง และได้มอบหมายให้รัฐมนตรีแต่ละคนไปดำเนินการ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่าแนวทางที่วางไว้ มีอะไรบ้าง ในฐานะที่ดูแลงานด้านกฎหมายของรัฐบาลต้องดูว่า จะดำเนินการอย่างไรต่อไปในทางกฎหมาย ในเบื้องต้นได้มีการงานโดยมีฝ่ายกฎหมาย ประชาสัมพันธ์ และประสานงาน โดยเน้นประสานงานให้เหตุการณ์ คลี่คลาย ส่วนแนวทางการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น ไม่มีการพูดคุยกัน การจะนำมาใช้เมื่อใดนั้นต้องดูสถานการณ์ก่อน แต่ตอนนี้ยังไม่มีการคิดว่าจะใช้ ในเบื้องต้นนี้ใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยเฉพาะการให้ตำรวจแจ้งไปที่ศาลอาญา เชื่อว่าศาลมีแนวทางอยู่แล้วเพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ในขณะที่รัฐบาลมีหน้าที่มาดูว่าแนวทางไหนเสี่ยงต่อความรุนแรง แนวทางไหนที่ทำให้เกิดความเรียบร้อย เป้าหมายคือทำให้สถานการณ์คลี่คลาย ไม่ห้ำหั่นกัน เมื่อถามว่านายกฯ เป็น รมว.กลาโหมด้วย ยังยืนยันหรือไม่ว่าทหารจะไม่มีการปฏิวัติ นายชูศักดิ์ตอบว่า นายกฯยืนยันว่าไม่มีแน่นอน
ให้ออกมาพูดถึงสิ่งที่ไม่ชอบธรรม
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในที่ประชุมแกนนำพรรคได้มีการประเมินผลการประชุมร่วมของ 2 สภา โดยนายกฯบอกว่าสิ่งที่เป็น ประโยชน์จะเก็บเกี่ยวนำมาใช้ ส่วนข้อเรียกร้องให้ลาออกนั้น ทางพวกตนเห็นว่าจะต้องดูว่ามาจากใคร เป้าหมายอะไรและเรียกร้องด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ ส่วนแนวทางแก้ปัญหาจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯนั้น ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะต้องดำเนินการโดยเร็วที่สุด แต่ยังยึดมั่นว่าจะเป็นไปโดยละมุนละม่อมไม่ใช้ความรุนแรง
นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่าได้กำชับให้ ส.ส.และรัฐมนตรีช่วยกันออกมาพูดแสดงความเห็น สิ่งที่ไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านนี้เวลานี้
โฆษกรัฐบาลเมินข้อเสนอ “อภิสิทธิ์”
วันเดียวกัน ที่ศูนย์แถลงข่าวกรมประชาสัมพันธ์ (กปส.) ซอยอารีสัมพันธ์ ทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกฯ นำโดย พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้กล่าวถึงข้อเสนอของพรรคประชาธิปัตย์ที่ให้ นายกฯลาออกและยุบสภาว่า นายกฯมาโดยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว จะให้คนกลุ่มหนึ่งที่ทำผิดกฎหมายมาตั้งแต่วันแรกบอกนายกฯลาออก ถามว่าถ้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดนกลุ่มชุมนุมมายึดพรรคเหมือนรัฐบาลตอนนี้ นายอภิสิทธิ์จะลาออกหรือไม่ ขณะนี้รัฐบาลก็พยายาม เจรจาด้วยตลอดเวลา และไม่ต้องกังวลว่าจะไปเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เพราะวันนี้ พ.ต.ท. ทักษิณต้องอยู่ต่างประเทศอย่างน้อย 15 ปี ตามอายุความ ไม่มายุ่งเกี่ยวแน่นอน นายสมัครก็ทำงานไปไม่เกี่ยวกัน ส่วนกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลรวมตัวกดดันให้นายกฯลาออกหรือยุบสภา ยืนยันว่าทั้ง 6 พรรคร่วมไม่มีใครกดดันนายกฯ ทุกคนทราบว่ารัฐบาลทำถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีใครคิดไปร่วมกับประชาธิปัตย์ด้วย เพราะถือว่าผิดกฎหมาย ส่วนหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคที่เป็น ส.ส. จะหวังมาเป็นนายกฯแทนหรือไม่ วันนี้นายกฯบอกว่าไม่ลาออกไม่ยุบสภา
แฉ “อภิสิทธิ์” อำพรางไม่ได้เจ็บจริง
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ข้อเสนอของประชาธิปัตย์ที่นายอภิสิทธิ์เรียกร้องให้นายกฯยุบสภา ถ้าใครฟังนายอภิสิทธิ์พูดแล้วอาจคล้อยตามว่า ดูดีดูสง่างามทางการเมือง แต่แค่ทำหน้าที่ลูกคู่พันธมิตรฯควรยุติได้แล้ว เพราะทำมาตั้งแต่เรื่องมาตรา 7 มาครั้งนี้ก็ทำหน้าที่ลูกคู่อีกครั้ง เรียกร้องให้นายกฯยุบสภาตามรอยข้อเสนอพันธมิตรฯที่ว่าให้ร่วมเจ็บพร้อมกัน แล้วประชาธิปัตย์จะยอมเจ็บด้วยนั้นไม่จริง ประชาชนต้องรู้เท่าทันเหลี่ยมมุมการเมืองของนายอภิสิทธิ์ว่า สถานการณ์ วันนี้โอกาสที่นายอภิสิทธิ์จะได้เป็นนายกฯ มีช่องทางเดียวคือการยุบสภาฯ เพราะถ้านายกฯลาออกพรรคร่วมอาจเสนอคนในพรรคพลังประชาชนเป็นนายกฯ หรือคนในพรรคร่วมอื่นอย่างนายบรรหาร ศิลปอาชา และหากตั้งรัฐบาลแห่งชาตินายกฯที่จะเสนอก็ไม่ใช่นายอภิสิทธิ์และคนในประชาธิปัตย์ วันนี้ประเทศ ประชาธิปไตย รัฐบาลและประชาชนเจ็บแล้ว แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่เจ็บ
ไม่ห้าม ส.ส.พลังประชาชนหนุน นปช.
นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า รัฐบาลได้รับฟังและ รับทราบแนวทางและข้อเสนอแนะทั้งหมด เพื่อจะนำไปประกอบการพิจารณาและประเมินกันในวันข้างหน้า ส่วนข้อเสนอให้ยุบสภาเป็นเพียงแนวคิดของแต่ละบุคคล แต่ ทางออกสุดท้ายจะเป็นอย่างไรต้องรอดูเหตุการณ์ต่อไป เพราะนายกฯเองก็ย้ำว่าให้ปฏิบัติกับผู้ชุมนุมอย่างนุ่มนวลที่สุด เมื่อถามว่าได้เตรียมสถานที่ประชุมของ ครม.แห่งใหม่ หรือยัง นายสมพงษ์ตอบว่า สักวันหนึ่งก็ต้องเข้าไปทำเนียบฯได้ ใครจะไปยึดได้ชั่วลูกชั่วหลาน ต่อข้อถามว่าจะห้ามปราม ส.ส.ของพรรคพลังประชาชนที่จะขนผู้ชุมนุมที่สนับสนุนรัฐบาล ออกมาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯหรือไม่ นายสมพงษ์ ตอบว่า คงไม่ห้าม ใครจะทำก็แล้วแต่ เป็นเรื่องส่วนบุคคล คนที่ออกมาต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯ ก็อาจคิดว่าต้องการแสดงออกให้เห็นว่ายังมีคนจำนวนมากสนับสนุนรัฐบาล เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชนทั่วประเทศ นายสมพงษ์ตอบว่า สามารถทำได้ เพียงแต่ใคร จะเป็นคนทำ คิดว่าการทำประชามติก็เป็นทางออกหนึ่ง ที่จะได้ทราบว่าประชาชนทั้งประเทศเขาคิดอย่างไรกับพันธมิตรฯคิดอย่างไรกับรัฐบาล
“อภิวันท์” ไม่เห็นด้วยกับยุบสภา
พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาว่า คงจะไม่มีการหารือถึงปัญหาการคัดค้านการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เรื่องนี้คงต้องชะลอไปโดยปริยาย เพราะสถานการณ์บ้านเมืองยังวุ่นวาย คงต้องไปคิดเรื่องอื่นก่อน ส่วนข้อเสนอของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรียุบสภานั้น พ.อ. อภิวันท์กล่าวว่า คงไม่สามารถแก้ปัญหาบ้านเมืองได้ เพราะต้นเหตุของปัญหามาจากคน 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนรักทักษิณและคนไม่เอาทักษิณ หากยุบสภาแล้วพรรคพลังประชาชนเข้ามาเป็นรัฐบาลอีก กลุ่มพันธมิตรฯก็จะไม่ยอมและประท้วงอีก แต่ถ้าเปลี่ยนขั้วโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล คนที่รักพรรคพลังประชาชนก็ไม่ยอม และต้องออกมาประท้วงเช่นกัน ถือว่าเป็นวงจรอุบาทว์อย่างที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้ การแก้ ปัญหาที่ดีที่สุดคือทุกฝ่ายต้องถอยกันคนละก้าว และให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯและ รมว.กลาโหม และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ มาเจรจากันเพื่อหาข้อยุติ
อัดยับ ปชป.เล่นการเมืองเกินเหตุ
นายศักดา คงเพชร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชาชน กลุ่มอีสานพัฒนา กล่าวถึงข้อเสนอให้ยุบสภาฯ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่า ในวันนี้หากยุบสภาจะเกิดประโยชน์อะไร ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะหากเลือกตั้งแล้วแม้ว่าพรรคพลังประชาชนหรือพรรคประชาธิปัตย์ชนะเรื่องก็ไม่จบ แต่ คิดว่าเป็นการชิงไหวชิงพริบทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เล่นการเมืองในลักษณะนี้มาตลอด คิดว่าเล่นการเมืองเกินไป คิดว่าน่าจะเสนอให้เจรจาป้องกันการเกิดสงครามทางจิตใจ ที่จะนำไปสู่สงครามมวลชนและพัฒนาไปสู่การจับอาวุธปะทะกัน เป็นสงครามกลางเมือง ส่วนข้อเสนอให้นายกฯลาออกนั้น ไม่มีหลักประกันว่าจะแก้ ปัญหาได้เช่นกัน ในกลุ่มอีสานพัฒนานั้นคิดว่าควรเดินทางสายกลาง คือให้ทุกฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ส.ว. และตัวแทนพันธมิตรฯฝ่ายละ 6 คน รวม 24 คน มาเจรจากัน โดยจะเสนอแนวคิดนี้กับผู้ใหญ่ในพรรคใน 1-2 วันนี้
พปช.พร้อมสู้เสมอหากมีการปะทะ
นายศักดากล่าวว่า ส่วนท่าทีของกลุ่มอีสานพัฒนานั้น คิดว่านายกฯทำถูกต้องแล้ว ขอให้กำลังใจนายกฯในการหาทางออกถ้าไม่หาทางออก แล้วไปทำตามที่พันธมิตรฯ เรียกร้อง คือสูตรแต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30 เท่ากับยอมรับการปลุกระดมทางความคิด ที่ส่งผ่านทางเอเอสทีวี โดยเป็นความคิดของผู้ที่ผิดหวังจากการเลือกตั้ง ยั่วยุให้ ทั้ง 2 ฝ่ายปะทะกัน อยากถามว่า เป็นคนไทยหรือเปล่า ถ้าเป็นทำไมถึงคุยกันไม่ได้ หรืออยากให้พังทั้งระบบ หากพันธมิตรฯเป็นดอกไม้ ก็ไม่ควรเป็นดอกไม้ที่ขึ้นบนซากปรักหักพัง กลัวเกิดสงครามทั่วประเทศ เมื่อถามว่า ยังคงมีกระแสกดดันนายกฯในกลุ่มหรือไม่ นายศักดาตอบว่า ตอนนี้ลูกศรของพรรคพลังประชาชนพุ่งไปในทางเดียวกัน พร้อมต่อสู้ทุกปัญหาทั้งหนักทั้งเบา หากจะมีการปะทะก็พร้อมปะทะ แต่ไม่อยากให้เกิดขึ้น อยากให้คุยกันส่วนที่ประชาชนทางอีสานอยากเดินทางมาร่วมต่อต้านกลุ่มพันธมิตรฯนั้น ไม่อยากให้เข้ามาในลักษณะต้องการปะทะกัน หากจะให้กำลังใจหรือสนับสนุนรัฐบาลควรทำในทางที่ถูก และอยากให้ทั้ง 2 กลุ่ม ใช้วิจารณญาณ เพราะขณะนี้ความรู้สึกของประชาชน 2 ฝ่ายสุดโต่งแล้ว ถ้าเกิดวิกฤติจะไม่เกิดในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่จะเกิดทุกพื้นที่ทั่วทุกหัวระแหง อันตรายมาก จะพังกันไปหมด
“สุเทพ” เชื่อประชุมร่วมไม่ล้มเหลว
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การประชุมร่วมของรัฐสภาเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ถือว่าไม่ได้ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เชื่อว่านายกฯ ที่นั่งฟังการอภิปรายอยู่ตลอดเวลา จะได้เห็นประเด็นที่ชัดเจนขึ้นในสถานการณ์ที่เป็นจริง มากกว่าที่เคยได้รับรายงานจากคนใกล้ชิด ขณะที่ประชาชนทั้งประเทศที่ชมรายการอภิปราย จะได้เห็นชัดว่าแนวคิดของนายกฯแตกต่างจากแนวคิดของ ส.ส.ฝ่ายค้านและ ส.ว.อย่างไร จะทำให้เกิดกระแสในหมู่ประชาชนอย่างชัดเจนว่าใครถูกใครผิด สำหรับฝ่ายค้านถือว่าได้ทำหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงอย่างดีที่สุดแล้ว แต่รัฐบาลจะนำไปปฏิบัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายกฯ ต่อข้อถามถึงข้อเสนอให้ยุบสภาหรือลาออก นายสุเทพตอบว่า เป็นเพราะการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล มีความผิดพลาดหลายอย่าง ถ้านายกฯจะหาแนวทางการลาออกจากตำแหน่ง สภาฯ ก็จะเลือกบุคคลใหม่ขึ้นมาเป็นนายกฯ หรือหากเลือกยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อรับฟังมติของประชาชนที่ได้รับข้อมูลข้อเท็จจริงไปแล้ว ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องยอมรับ ทั้งนี้เชื่อว่าสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาอภิปรายไปทั้งหมด คงได้อยู่ในใจนายกฯบ้าง ข้อเสนอและข้อแนะนำของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะไม่ถูกใจทุกคน แต่ก็เป็นคำพูดจากใจจริง ส่วนกรณีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ทั้งรัฐบาล ฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิก เพื่อหาทางออกร่วมกันก็สามารถทำได้ไม่มีอะไรเสียหาย แต่จะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายกฯ
“พัชรี” เตรียมฟ้อง “สุนัย” หมิ่นฯ
น.ส.สุพัชรี ธรรมเพชร ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เปิดเผยว่า ได้รับเอกสารฉบับหนึ่ง ระบุว่าก่อนการปฏิวัติ มีบริษัททีพีไอโพลีน โอนเงินให้กลุ่มพันธมิตรฯ จำนวนกว่า 250 ล้านบาท ยังพบว่ามีการโอนเงินผ่านบริษัทของ น.ส.สุพัชรีว่า ขณะนี้ได้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว โดยได้ประสานไปยังนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านทางเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขณะนี้ได้นำไปให้ฝ่ายกฎหมายของพรรคตรวจสอบ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคด้วย ส่วนที่มีการพาดพิงว่าบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนปี 2547 ยืนยันว่าไม่เป็นความจริงเพราะขณะนั้นยังเป็นนักศึกษา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นเจ้าของบริษัท ดังนั้น เรื่องที่นายสุนัยอภิปรายในสภา ก็เป็นเพื่อการกล่าวหา เพื่อให้ตนและพรรคเสียหายเท่านั้น กรณีนี้เป็นการกล่าวหาตนและบิดาของตน รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งไม่เป็นความจริง และยืนยันว่าไม่มีการรับเงิน ทั้งนี้ หากยังมีข้อสงสัยตนและพรรคก็ยินดีให้ตรวจสอบหลักฐานเส้นทางการเงิน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และถ้าการตรวจสอบจากพรรคพบว่าสิ่งที่นายสุนัยกล่าวอ้างเป็นเท็จ ก็จะฟ้องกลับในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย

ที่มา http://www.thairath.co.th/

1 ความคิดเห็น:

" Politics and Government in Thailand " กล่าวว่า...

หากยุบสภาแล้วพรรคพลังประชาชนเข้ามาเป็นรัฐบาลอีก กลุ่มพันธมิตรฯก็คงจะไม่ยอมและประท้วงอีก แต่ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาล คนที่รักพรรคพลังประชาชนก็ไม่ยอม และต้องออกมาประท้วงเช่นกัน การแก้ปัญหาที่ดีคือทุกฝ่ายต้องถอยกันคนละก้าว หันมาเจรจาตกลงหาข้อยุติ เพื่อความสงบเรียบร้อยของประเทศชาติต่อไป

นายวัฒนา อาษาดี
ID 5131601481
section 02