วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

พธม.ลั่น ส.ไหนก็ไม่เอา ชู'สภาประชาภิวัฒน์' [15 ก.ย. 51 - 04:21]


เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 14 ก.ย. ที่ห้องสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำพันธมิตรฯ แถลงข่าวต่อกรณี การเคลื่อนไหวกดดันบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนายสมศักดิ์กล่าวว่าต้องติดตามสถานการณ์ ไปก่อน สำหรับรายชื่อ 3 ส. ที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็น ส. ไหน ก็รับไม่ได้ เพราะบุคคลเหล่านี้ทำผิดกฎหมายมาแล้วทั้งสิ้น เช่น กรณีปราสาทเขาพระวิหาร ที่มติ ครม.ขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ไม่ว่าใครที่มาจาก ครม.ชุดนี้ถือว่า ขายชาติ จึงขาดคุณสมบัติที่จะมาบริหารประเทศชาติ ส่วนที่จะมีการเสนอชื่อนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกฯ เห็นว่าเป็นความคิดของพวกที่อยู่ในอาจมก็ต้องยอมรับกันได้อยู่แล้ว เชื่อว่าประเทศไทยคงไม่สิ้นไร้ไม้ตอกถึงขนาดหาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้
ย้ำไม่เอานายกฯ จาก พปช.-พรรคร่วม
นายสมศักดิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าพันธมิตรฯ จะไม่ยอมรับตัวแทนจากทั้งพรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาลแน่นอน เพราะคนพวกนี้เคยสมคบกันกระทำผิด เมื่อก่อนอยู่รวมกันแล้วถูกซื้อตัวไป เมื่อ แตกแล้วก็มารวมกันใหม่ เป็นซ่องโจรอีก อย่างนี้เรารับไม่ได้ ส่วนพรรคที่ยังไม่กระทำผิดเราจะไปว่าหรือห้ามอะไรเขาไม่ได้ ดังนั้นคนเหล่านี้ควรยุติบทบาททางการเมือง เพราะหากบริหารบ้านเมืองประเทศชาติคงไม่มีอนาคต และยิ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าคนเหล่านี้เขามาในสภา โดยการซื้อเสียง และเคยโกงกินมาก่อน จะมีใครกล้าสาบานหรือไม่ว่าไม่เคยซื้อเสียงเข้ามา ดังนั้นเราจึงต้องทำการเมืองใหม่ เพื่อกำจัดคนประเภทนี้ออกไป
ฉุน ปชป.พลิกหนุน “สมชาย”
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์ออกมาสนับสนุนนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี กลุ่มพันธมิตรฯ ยอมรับได้หรือไม่ พล.ต.จำลอง ตอบว่า เราพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ไม่ใช่พันธมิตรเพื่อประชาธิปัตย์ ดังนั้น จะเอาไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ เขาคือนักการเมือง นักเลือกตั้ง แต่พันธมิตรฯไม่ใช่ เราไม่ได้เอาพรรคใดมาเป็นสรณะ เมื่อถามว่า หากมีการยุบสภากลุ่มพันธมิตรฯ จะยุติการชุมนุมหรือไม่ พล.ต.จำลองตอบว่า เรื่องนี้ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ของพันธมิตรฯ เพราะบทบาทของเราคือการหยุดยั้งความชั่วร้ายและเข้ามาทำการเมืองใหม่ อย่างไรก็ตาม การยุบสภายังมาไม่ถึง ต้องว่ากันไปตามสถานการณ์
ด่าซ้ำ รบ.แห่ง ปชป.การเมืองน้ำเน่า
ส่วนแนวคิดที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้มีรัฐบาลแห่งชาตินั้น พล.ต.จำลองตอบว่า รัฐบาลแห่งชาติ ก็เหมือนรัฐบาลแห่งพรรคของประชาธิปัตย์ เพราะแนวคิดดังกล่าวเป็น การเอานักการเมืองน้ำเน่าเก่าๆ ที่มะรุมมะตุ้มอยู่ในสภาฯ ก็เปรียบเสมือนการพายเรืออยู่ในอ่าง เอาของเน่ามาผสมกับของเน่าก็ทำให้ยิ่งเน่าไปใหญ่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาประเทศชาติได้
ระบุนายกฯแต่งตั้งดีกว่าเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามแนวทางการเมืองใหม่ พล.ต.จำลอง ตอบว่า การเมืองใหม่ที่พันธมิตรฯเสนอยังคงเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่ การเลือกตั้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยนักการเมืองต้องมาจาก 2 ส่วนคือ มาจากการเลือกตั้ง อีกส่วนหนึ่งมาจากการสรรหาจากวิชาชีพ เพราะหากยังเป็นการเลือกตั้งแบบเดิม จะทำให้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถ ไม่มีทางเข้ามาได้ จะมีก็แต่นักการเมืองเพียงไม่กี่กลุ่มที่สลับกันยึดครองประเทศเหมือนเดิม ปัญหาของประชาชนก็ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งนี้ เราจะไปเอาอย่างประเทศฝั่งตะวันตกที่เลือกตั้งแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะไม่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนไทย
ด้านนายสมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้เราต้องตื่นและอยู่กับความเป็นจริง คนไทยต้องเชื่อมั่นในระบอบวัฒนธรรม และจุดยืนของความเป็นไทย อย่าไปยึดติดกับตำราฝรั่ง ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเราไม่ได้บอกว่าจะต้องมาจากคนนอก แต่ที่ผ่านมานายกฯเรามีตัวอย่างนายกฯแต่งตั้งที่ดีคือ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และนายอานันท์ ปันยารชุน ที่แม้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็มีผลงานมากมาย ดีกว่านายสมัคร สุนทรเวช นายบรรหาร ศิลปอาชา และ พ.ต.ท.ทักษิณที่โกงการเลือกตั้งเข้ามา
เมื่อถามว่า แสดงว่าพันธมิตรฯต้องการนายกฯ คนนอกใช่หรือไม่ พล.ต.จำลองตอบว่าไม่ใช่อย่างนั้น นี่เป็นเพียงแค่การยกตัวอย่าง การเมืองใหม่ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ควรมีสัดส่วนมาจากการสรรหา อย่าให้พวกนักการเมือง มาครองสภาฯแบบเก่าอีก และจะเห็นว่านักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้ง ส่วนใหญ่จะดีกว่าการเลือกตั้ง
พธม.ลั่นไม่รับรัฐบาล พปช.
กระทั่งเวลา 21.25 น. นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พันธมิตรฯ ได้ขึ้นเวทีปราศรัยอ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 22/ 2551 ของพันธมิตรฯ เพื่อประกาศจุดยืนกรณีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยระบุว่า “รัฐบาลประชาภิวัฒน์เท่านั้นที่จะแก้ไขวิกฤติชาติได้” ทั้งนี้ ในแถลงการณ์อ้างถึงแถลงการณ์ฉบับที่ 21/2551 เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551 และกล่าวว่า ขณะนี้ได้เกิดขบวนการและความพยายามในการบิดเบือนข้อมูล แอบอ้างความเรียบร้อยและความสงบเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพียงเพื่อมิให้ประชาชนสนใจต่อนักการเมืองที่ไร้จริยธรรม ทุจริตคอรัปชัน ขายชาติ และย่ำยีกฎหมาย พร้อมๆ กับความพยายามที่จะนำเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลหุ่นเชิดเพื่อให้พรรคพลังประชาชนแสวงประโยชน์แต่ฝ่ายเดียวไม่มีสิ้นสุด ดำรงวิกฤติที่สุดในโลกและความล่มจมประเทศชาติต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เป็นน้องเขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และมีภรรยาถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับคดีทุจริตคอรัปชันและร่ำรวยผิดปกติ, นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการยุติธรรมหุ่นเชิด ผู้ที่ได้โยกย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ให้เป็นคนใกล้ชิดเพื่อช่วยเหลือครอบครัวชินวัตร หรือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ที่มีประวัติด่างพร้อยร่วมกับรัฐบาลทักษิณออกสลากพิเศษ 2 ตัว และ 3 ตัวโดยผิดกฎหมาย ตลอดจนแสดงพฤติกรรมช่วยเหลือในการคืนเงินที่อายัดให้กับครอบครัวชินวัตร ดังนั้น พันธมิตรฯ จึงไม่ต้องการ “นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดหรือรัฐบาลผสมที่มีส่วนร่วมจากพรรคพลังประชาชน”
เสนอจัดตั้ง “สภาประชาภิวัฒน์”
นายสนธิยังกล่าวถึงจุดยืนของพันธมิตรฯอีกว่า ไม่ต้องการรัฐบาลแห่งชาติที่มาจากการส่งตัวแทนทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมรัฐบาล รวมถึงไม่ต้องการ การรัฐประหารเพื่อกลุ่มผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง พร้อมเสนอทางออกในการแก้วิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ด้วยการให้มี “รัฐบาลประชาภิวัฒน์” ซึ่งมีหลักการคือ ส่งเสริมให้คนดีมาปกครองบ้านเมือง มิให้คนไม่ดีมีอำนาจ โดยขอให้นักการเมืองในรัฐสภายอมเสียสละพื้นที่ของตัวเอง ยอมให้บุคคลที่เป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย มีความสามารถ และมีความจริงใจในการแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง ให้เข้ามาบริหารประเทศชั่วคราวโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกระดับ ปราศจากตัวแทนผลประโยชน์ของพรรคการเมือง ปราศจากตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มการเมือง และปราศจากตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ของกลุ่มทุน และให้รัฐบาลประชาภิวัฒน์เข้ามาดำเนินการภารกิจเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขวิกฤติของบ้านเมือง ทั้งนี้ รัฐบาลประชาภิวัฒน์ จะมาจากองค์กรประชาชนทุก ภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพ เพื่อกำหนดอนาคตและทิศทางของประเทศชาติร่วมกัน ช่วยกันพัฒนาสร้างสรรค์ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งเนื้อหา รูปแบบ โครงสร้างทางการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมือง ที่อยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเพื่อความเป็นธรรมในสังคม และรับผิดชอบโดยให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบได้อย่างแท้จริง ร่วมกำหนด “วาระแห่งชาติ” รวมถึงร่วมกับประชาชน เพื่อทำให้เกิด “สภาประชาภิวัฒน์” ที่มีองค์ประกอบหลากหลาย กว้างขวาง เพื่อนำพาประเทศให้พ้นจากวิถีการเมืองแบบเดิม ที่เอื้อต่อการทุจริต คอรัปชัน ใช้เล่ห์เพทุบายเพื่อหลบเลี่ยงจากการตรวจสอบ และไม่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น: