วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551
ขัดขืนแบบพันธมิตร “สง่างาม” หรือ “ป่าเถื่อน”
ต้องยกนิ้วให้ “กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อคณาธิปไตย” ว่าของเขาดีจริง...
เพราะนอกจากความสามารถขั้นเทพในการปลุกระดมแล้ว ก็ยังอุดมด้วยความคิดสร้างสรรค์เต็มพื้นที่ไปหมด เป็นผู้นำอันดับต้นๆ ในการสร้างกระแส “แฟชั่น” ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นเสื้อผ้า แฟชั่นสิ่งของเครื่องใช้ แฟชั่นอุปกรณ์การเชียร์
แม้แต่แฟชั่นทาง “ภาษา” ก็ยังสามารถนำคำธรรมดาที่เคยถูกใช้ในพื้นที่จำกัดมาทำให้เป็นคำ “ป๊อปๆ” ที่ใช้กันดาษดื่น
“ภาคประชาชน” คำที่เคยเรียกใช้กันเองในคนไม่กี่กลุ่ม ก็ได้การชุมนุมของพันธมิตรฯเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วนี่เองที่ทำการตลาดให้ แม้ว่าระยะหลังผู้คนจะเริ่มสับสนสงสัยแล้วว่าอะไรคือ “ภาคประชาชน” กันแน่ บางคนแทบจะเข้าใจผิดไปเลยว่า จริงๆ แล้วภาคประชาชนแปลว่า ไม่เอาการเลือกตั้ง ปฏิเสธประชาธิปไตย แต่ยอมรับได้กับการรัฐประหาร...
ล่าสุด คำที่เคยอยู่แต่ในตำราวิชาสันติวิธีของอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่าง “อารยะขัดขืน” ก็ได้รับการปลุกปั้นให้เชิดหน้าชูตาเป็นที่รู้จักวงกว้างได้โดยสำเร็จ โดยเริ่มจากการประกาศ “ไม่จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ภาษี ฯลฯ” ซึ่งแม้จะไม่สำเร็จแต่ก็ทำให้ประชาชนทั่วไปตื่นเต้นสนใจได้ว่า “นี่ล่ะหรือคืออารยะขัดขืน...”
ที่ทำให้โด่งดังกันสุดๆ ก็เมื่อพันธมิตรฯ เดินเกม “แหกตำรวจ ยั่วรัฐบาล หน้าด้านดื้อกฎหมาย” จากที่เคยนอกกติกา ก็หันมาเป็นนอกรัฐธรรมนูญ ทำลายสมบัติหลวง ช่วงชิงบุกยึดสถานที่ราชการ ระรานสิทธิและความสงบของประชาชนคนอื่นๆ ดื้อด้านขัดขืนไม่มอบตัวในข้อหากบฏ ฯลฯ
เหล่านี้กลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อทุกอย่างที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย” ทำมาแล้วทุกอย่างและใช้ข้ออ้าง “อารยะขัดขืน” ในการปกป้องเสรีภาพของตัวเองเอาไว้ แม้ในวันที่ศาลได้ออกหมายจับแล้วก็ตาม... จินตนาการได้ไม่ยากเลยว่า นับตั้งแต่มี “อารยะขัดขืน” ในมาตรฐานพันธมิตรปรากฏออกมา ความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้จะกลายเป็นที่โจษจันและตั้งข้อสงสัยมากแค่ไหน
จริงหรือไม่ที่เราจะ “ทำอะไรก็ได้” ตามแต่ความพอใจ
และถ้ามันผิดกฎหมายหรือทำลายกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดขึ้นมาร่วมกัน จะอ้างเพียงว่า “อารยะขัดขืน” เพื่อปฏิเสธการต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำได้แล้วกระนั้นหรือ
แท้จริงนั้น คำว่า “อารยะขัดขืน” ถูกนำมาใช้ครั้งแรกโดย รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้บุกเบิกวิชาการด้านความรุนแรงและสันติวิธีในประเทศไทย อ.ชัยวัฒน์ อธิบายว่า อารยะขัดขืน (Civil Disobedience) เป็นเรื่องของการขัดขืนอำนาจรัฐ ที่ต้อง “อารยะ” (ถูกต้อง ดีงาม เจริญแล้ว) ทั้ง “วิธีการ” และ “เป้าหมาย” จะขาดประการใดประการหนึ่งไปไม่ได้ และการกระทำนั้นต้องทำให้สังคมโดยรวมอารยะขึ้น หรือเจริญขึ้น สูงขึ้น ไปในทางที่ดีขึ้น
วิธีการอย่างอารยะจากมุมมองของ อ.ชัยวัฒน์ นั้น ยังต้องเปิดเผย ไม่ใช้ความรุนแรง และที่สำคัญคือต้องยอมรับผลตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นกับตัวผู้ใช้แนวทางอารยะขัดขืนหรือสันติวิธี เพื่อให้สังคมการเมือง “เป็นธรรม” ขึ้น “เคารพ” สิทธิเสรีภาพของคนมากขึ้น และเป็น“ประชาธิปไตย” ยิ่งขึ้น
ซึ่งหากว่ากันตามแนวทางของนักวิชาการเจ้าตำรับสันติวิธีท่านนี้เพียงท่านเดียวเสียก่อน ก็ต้องพิจารณากันว่าการกระทำของพันธมิตรฯ เข้าข่ายนี้สักกี่ข้อ
“วิธีการ” ของพันธมิตรฯ ดีงาม ถูกต้อง ปราศจากความรุนแรงเพียงใด
“เป้าหมาย” นั้นเล่า ได้เคารพมนุษย์คนอื่นๆ เพียงพอหรือไม่ เป็นไปเพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเป็นธรรมเท่าเทียม เพื่อความเจริญเติบโตและเข้มแข็งของสังคมการเมืองบ้างหรือเปล่า
ที่มา http://www.prachatouch.com/content.php?id=9750
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น