วันพุธที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551

ออกหมายจับแม้ว-อ้อเบี้ยวฟังคดีรัชดาฯ

ไร้เงา"ทักษิณ-พจมาน"ฟังคำพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯ ศาลออกหมายจับนัดฟังคำพิพากษาอีกครั้ง 14.00 น. วันที่ 21 ต.ค. ขณะที่ศาลแจ้งผลคำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้ พ.ร.บ. ว่า ด้วย ป.ป.ช. มาตรา 4, 100, 122 ที่ฟ้อง “แม้ว” ไม่ขัด รธน. หลังอดีตนายกฯ ยื่นประเด็นโต้แย้งสิทธิความเสมอภาคบุคคลถือครองทรัพย์สิน ด้านอธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ เผยเป็นหน้าที่ตำรวจตามจับผู้ต้องหามาฟังคำพิพากษา ยินดีทำเรื่องขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหากประสานมา ระบุถ้าถึงวันนัดยังไร้เงา ขึ้นอยู่ที่ศาลว่าจะอ่านคำพิพากษาลับหลังหรือไม่ ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 ก.ย. นายทองหล่อ โฉมงาม ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา พร้อมองค์คณะรวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ที่อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกรัฐมนตรีและคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดีและเป็นเจ้าพนักงาน และผู้สนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 ม.4, 100 และ 122 ประมวลกฎหมายอาญา ม.33, 83, 86, 91, 152 และ 157 จากกรณีที่คุณหญิงพจมาน ประมูลซื้อขายที่ดินย่านรัชดาฯ 4 แปลง มูลค่า 772 ล้านบาทเศษ จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยอัยการโจทก์มาศาล แต่จำเลยทั้งสองและทนายความจำเลยไม่มาศาล ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลติดประกาศหมายนัดฟังคำพิพากษาให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลย ทั้งสองไม่มาฟังคำพิพากษา จึงให้ออกหมายจับจำเลย ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 32 วรรคสอง มาฟังคำพิพากษา และให้เลื่อนนัดฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 21 ต.ค.นี้ เวลา 14.00 น. ทั้งนี้ศาลยังได้แจ้งให้อัยการโจทก์ทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 11/ 2551 ที่จำเลยทั้งสองโต้แย้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 4, 100 และ 122 ที่ยื่นฟ้องคดีนี้ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เรื่องการถือครองทรัพย์สินของบุคคลหรือไม่ อย่างไรก็ตามศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว เห็นว่า พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ฯ ดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อ รธน. มาตรา 26-29, 39 และ 43 ด้านนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานรับผิดชอบคดี กล่าวว่า เมื่อศาลออกหมายจับ ก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการติดตามตัวจำเลยทั้งสอง หาก สตช. ประสาน มายังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน อัยการก็มีคณะทำงานเตรียมพร้อมดำเนินแล้วโดยก่อนหน้านี้คณะทำงานได้ประสาน ขอข้อมูลการฟ้องคดี พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ว่ายื่นฟ้องแล้วกี่คดี และคดีอยู่ในชั้นใดเพื่อเตรียมส่งข้อมูลให้อัยการฝ่ายต่างประเทศยื่นคำร้องขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน ทั้งนี้ หากศาลนัดอ่านคำพิพากษาวันที่ 21 ต.ค. แต่ยังไม่ได้ตัวจำเลยทั้งสองมาฟังคำพิพากษา ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าจะอ่านคำพิพากษาลับหลังหรือไม่ วันเดียวกัน ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รอง ผบช.ก. ในฐานะรองโฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณ หลังหลบหนีคดี ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ให้แก่รัฐบาลพม่า วงเงิน 4,000 ล้านบาท ว่า ภายหลังศาลมีคำสั่งออกหมายจับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องรอศาลส่งหมายจับก่อนเข้าสู่กระบวน การออกประกาศสืบจับ โดยกองทะเบียนประวัติอาชญากร แล้วกระทำการกระจายประกาศสืบจับไปยังสถานีตำรวจ และด่านตรวจคนเข้าเมือง ทั่วประเทศ เพื่อติดตามจับกุมตัวตามคำสั่งศาล ก่อนทำการรายงานผลติดตามการจับกุมไปยังอัยการต่อไป ซึ่งขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่ได้รับหมายจับจากศาลแต่อย่างใด ส่วนการประสานส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ต้องพิจารณาดูว่าจะมีผลต่อหมายจับเก่าที่เคยออกมาในคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาฯอย่างไร อัยการต้องพิจารณาว่าจะเลือกใช้ หมายไหน ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติกองคดีก็จะพิจารณาดูว่าหมายจับเก่าสิ้นสุดหรือไม่ด้วย.


ที่มา www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น: