วันอาทิตย์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2551

สมชาย หารือ ผบ.ทบ.ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน [14 ก.ย. 51 - 03:40]


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 18.15 น. วันที่ 13 ก.ย. ที่บ้านพักภายในกรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (ร.1รอ.) นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รักษาการนายกรัฐมนตรี เดินทางเข้าพบ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบและมอบอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายหลังการหารือกว่า 1 ชั่งโมง ได้ข้อสรุปว่า เนื่องจากสถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มอยู่ในทางปกติ ไม่มีเหตุการณ์ รุนแรง รวมถึงหากมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายต่อนักลงทุน และกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความเห็นตรงกันว่า จะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยจะใช้กฎหมายปกติในการปฏิบัติควบคุมสถานการณ์ พร้อมมอบหมายให้ ผบ.ทบ.เป็นผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย มีหน้าที่รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อย ภายในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งแนวทางการปฏิบัติจะมอบหมายให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. เป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลความไม่สงบภายใน หากเกินกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถร้องขอกำลังทหาร เข้าไปช่วยเหลือในลักษณะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน โดยในวันที่ 14 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น. นายสมชาย พล.อ.อนุพงษ์ และ พล.ต.อ.พัชรวาทจะร่วมแถลงข่าวยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่กองบัญชาการกองทัพไทย
“อนุพงษ์” เสนอยกเลิกภาวะฉุกเฉิน
ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และหัวหน้าผู้รับ ผิดชอบแก้ไขในสถานการณ์ฉุกเฉิน กล่าวถึงการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.บริหารบ้านเมืองในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า สถานการณ์ฉุกเฉินที่คณะกรรมการได้พิจารณาร่วมกัน ในเรื่องของการปะทะกันของกลุ่มผู้ชุมนุม 2 กลุ่ม ขณะนี้ทางฝ่ายตำรวจและทหารได้เตรียมแผนรองรับไว้แล้ว คาดว่าน่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ดังนั้นสถานการณ์ น่าจะไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้ส่งผลกระทบต่อทางเศรษฐกิจและสังคมมาก จึงคิดว่าน่าจะพิจารณาในการยกเลิก รวมถึงในเรื่องภาพพจน์ต่อต่างประเทศที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เพราะการเดินทางมาประเทศที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน ทางประกันภัยเขาจะไม่รับรอง ดังนั้นเขาจึงไม่กล้าเดินทางมา เมื่อถามว่า จำเป็นจะต้องมีการคงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนกว่าจะมีการเลือกนายกฯคนใหม่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า คงต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลว่า จะเห็นเหมาะสมประการใด เมื่อถามว่า หวั่นหรือไม่ว่าจะเกิดการปะทะกันระหว่างคนสองกลุ่มอีก พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า เท่าที่เราได้เตรียมแผนไว้เพื่อดูแลในส่วนนี้ ได้ พยายามสร้างความเข้าใจ จึงคิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรง ทั้งนี้ได้ให้กองทัพภาคที่ 1 และตำรวจนครบาลประสานกับ นปช.
ให้การเมืองแก้ไขปัญหาของตัวเอง
เมื่อถามว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการสลายม็อบในช่วงสูญญากาศ พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า คณะกรรมการได้ให้ข้อพิจารณาในเรื่องนี้ว่า เดิมทีเขามีการชุมนุมอยู่แล้ว เมื่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมาสั่งว่าห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เท่ากับว่ามีการชุมนุมอยู่แล้ว แต่สั่งห้ามหมายความว่าต้องเข้าไปดำเนินการ แต่เมื่อมีการดำเนินการไปครั้งหนึ่งโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผลที่ตามมายิ่งทำให้เกิดปัญหาและความไม่สงบมากกว่าเดิม อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าแก้ปัญหา แต่ไปเพิ่มปัญหา ดังนั้นต้องใช้มิติอื่น ขณะนี้ทางการเมืองพยายามแก้ไขสถานการณ์ อย่างเช่นที่ผ่านมานายกฯได้มีการดำเนินการ และประชาชนทั่วไปคงจะลดอุณหภูมิในการที่จะไปมีส่วนร่วม ดังนั้นเชื่อว่าน่าจะค่อยๆแก้ปัญหาไปได้เรื่อยๆในตัวเอง เมื่อถามว่า ทำอย่างไรให้ทหารอดทนต่อสถานการณ์ ทางการเมืองได้ พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า เราต้องพูดให้ทุกคนเข้าใจว่า ทหารควรจะเป็นหลักของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เราต้องประกันความมั่นคงของประเทศชาติ ยืนยันว่าไม่มีวาระส่วนตัวใดๆทั้งสิ้น
เรื่องรัฐบาลแห่งชาติคงเป็นไปได้ยาก
เมื่อถามว่า มีนักการเมืองตั้งข้อสังเกตว่าทหารบางกลุ่มไปล็อบบี้ทางการเมือง พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า ไม่มี เข้าใจคงทำไม่ได้ เพราะนักการเมืองมีปัจจัยที่จะต้องพิจารณาร่วมกันในเรื่องอื่นๆ เมื่อถามว่า หากตกลงกันไม่ได้ จะนำไปสู่การตั้งรัฐบาลแห่งชาติ หรือนายกฯคนนอกหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า รัฐบาลแห่งชาติคงมีความยากพอสมควรที่จะเกิดขึ้นได้ และบางคนไม่ค่อยจะยอมรับ เพราะใช้ในช่วงสั้นๆเท่านั้น และไม่มีฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบ ถ่วงดุล ส่วนนายกฯคนนอกยิ่งยาก เพราะเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญด้วย เมื่อถามว่า ขณะนี้พอจะเห็นนายกฯคนใหม่หรือยัง พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า คงจะต้องมีได้แน่นอนในจำนวน ส.ส. ที่มีอยู่ เมื่อถามถึงกรณีที่ท่านระบุว่า นักการเมืองควรจะต้องเสียสละ พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็แล้วแต่ เมื่อปัญหาเกิดขึ้นต้องมีคนยอมเสียสละ เพื่อจะได้สามารถตกลงกันได้ แต่ตนไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นใคร เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ที่ประชาชนฝากความหวังให้กองทัพแก้ปัญหา พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า เข้าใจว่าทุกคนในประเทศเราหนักทั้งนั้น หนักที่จะต้องหาทางสร้างความเข้าใจทุกๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักวิชาการพยายามช่วยทำให้ลุล่วงไปได้ แต่ยังคิดว่าหนัก
จุดยืนกองทัพคือไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง
เมื่อถามว่า การเมืองยังหาทางออกให้กับสถานการณ์ไม่ได้ กองทัพจะมีจุดยืนอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ ตอบว่า คงเหมือนเดิม เพราะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเมืองพยายามแก้ไขปัญหากันอยู่ เราคงเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ส่วนกรณีที่ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก ได้ เข้าไปมีส่วนร่วมกับกลุ่ม นปช.นั้น ได้ให้เพื่อนร่วมรุ่นของ พล.ต.ขัตติยะติดต่อไปอย่างไม่เป็นทางการ อย่างไร ก็ตาม เท่าที่ติดตามสถานการณ์เชื่อมั่นว่าคนในกองทัพมีความเข้าใจตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่เคยมีใครวุ่นวาย และยังอยู่ในสถานะที่เรียบร้อยอยู่ เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่มีประชาชนพยายามปลุกให้ทหารออกมาปฏิวัติ พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า 1. คือถ้าทำแล้วจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ และเมื่อคิดทีละประเด็นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เลย 2. คือเมื่อทำแล้วผลกระทบที่ตามมาไม่ว่าจากภายใน ทั้งกลุ่มนักวิชาการ อาจารย์ กลุ่มไม่เอาการปฏิวัติ และกลุ่มต่อต้านเดิมที่มีอยู่ รวมถึงผลกระทบระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจ ซึ่งจะน่าส่งผลกระทบมากและสูงกว่าที่จะรับได้ รวมถึงอาจจะไม่ได้เรียกว่าแก้ปัญหา และไม่น่าจะทำได้ เพราะมีผลกระทบถึง 2 อย่างจึงไม่น่าจะใช้วิธีนี้ รวมถึงได้มีการประเมินบทเรียนจากการปฏิวัติครั้งที่ผ่านมาด้วย
นายกฯใหม่ต้องไม่สร้างความขัดแย้ง
เมื่อถามว่า พอใจหรือไม่ที่การโหวตเลือกนายกฯเลื่อนออกไป เพราะได้ช่วยคลี่คลายสถานการณ์ไปบ้าง พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า รู้สึกเช่นเดียวกับประชาชนทั่วๆไป ถ้าอะไรที่เกิดขึ้น ประชาชนเขารู้สึกเบา ก็รู้สึกเบาไปด้วย ทั้งนี้ มั่นใจว่าข้าราชการในกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ มีความเข้าใจสถานการณ์ ทุกคนพยายามที่จะทำให้สถานการณ์ผ่านไปด้วยดี เมื่อถามว่า หากได้นายกฯเร็วๆจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า น่าจะดีขึ้น เพราะเราคงทนสุญญากาศไม่ได้ ในขณะนี้ถ้าสามารถจบเรื่องความขัดแย้งได้ และให้ประเทศเดินหน้าไปได้ น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เมื่อถามว่า นายกฯคนใหม่ควรมีลักษณะอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า อย่างที่ทุกคนเห็นว่าหากมีความขัดแย้งอยู่ก็ต้องเป็นวาระเร่งด่วน หากตรงนี้จบได้ ประเทศเราเดินหน้าได้แน่นอน เมื่อถามว่า จุดยืนของกองทัพต่อผู้ที่จะมาเป็น รมว.กลาโหม ต้องเป็นอดีตนายทหารหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า ไม่จำเป็น เพราะที่ผ่านมานายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯและ รมว.กลาโหม ดูแลดำเนินการให้กระทรวงกลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยได้ เมื่อถามว่า ต้องกระซิบทหารก่อนหรือไม่ ว่าจะนำใครมาเป็น รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า ไม่จำเป็น


ที่มา http://www.thairath.co.th/

1 ความคิดเห็น:

" Politics and Government in Thailand " กล่าวว่า...

การยกเลิกพระราชกำหนดก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองได้ แต่ถ้าในระดับจิตใจสามารถลดความตรึงเครียดลงได้ อย่างไรก็ตามควรรีบแก้ไขปัญหาทางการเมืองให้เร็วที่สุด เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ
นางสาวธัญญา แตงน้อย 5131601343 sec 2