วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ส.ส.ปชป.ระบุวิกฤติเกิดจากนายกฯ แนะทบทวนตัวเอง


นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) อภิปราย ระหว่างการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาญัตติเปิดอภิปรายทั่วไป โดยไม่มีการลงมติ เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ว่า วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นนี้ สืบเนื่องมาจากรัฐบาลพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลืออดีตนายกรัฐมนตรีไม่ให้มีความผิด และนายกฯ ได้พยายามใช้สื่อของรัฐโจมตีฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง
ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีพฤติกรรมที่มุ่งทำลายล้างองค์กรอิสระ โดยทั้งหมดที่กล่าวมา ก่อให้เกิดวิกฤติขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอเสนอแนะว่า รัฐบาลและนายกฯ ต้องไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบและถึงเวลาแล้วที่นายกฯ จะต้องหันมาทบทวนบทบาทและพฤติกรรมอย่างจริงจัง นอกจากนั้น ต้องถามตัวเองว่า สมควรที่จะดำรงตำแหน่งต่อไปหรือไม่ เพราะแม้นายกฯ ยังอยู่ได้ แต่เชื่อว่ายากจะบริหารราชการแผ่นดินต่อไปได้
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นายกฯ ต้องพิจารณาว่า ถ้านายกฯ อยู่ บ้านเมืองจะเสี่ยงต่อการสูญเสียเลือดเนื้อหรือไม่ และบ้านเมืองจะสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียประชาธิปไตยหรือไม่ ตนรู้ว่า กว่าจะมาเป็นนายกฯ ได้ต้องสั่งสมประสบการณ์มายาวนาน และเพิ่งเป็นนายฯ มา 7 เดือน และเข้าใจที่นายกฯ บอกว่า มาจากการเลือกตั้ง มาจากระบอบประชาธิปไตย แต่การเปลี่ยนแปลงในระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว และจะทำให้บ้านเมืองพ้นวิกฤติ
ด้านนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อภิปรายว่า ตนพิจารณาตัวเองแล้ว ไมได้ทำอย่างที่นายจุรินทร์กล่าวหา การอภิปรายดูเหมือนว่า ฝ่ายที่ปลุกระดม ยึดทำเนียบรัฐบาลยึดสถานีโทรทัศน์เป็นฝ่ายที่ทำถูก แต่ฝ่ายรัฐบาลทำผิด ทั้งที่รัฐบาลยืนยันว่า จะไม่ใช่ความรุนแรง และฝ่ายตำรวจไม่ได้เป็นฝ่ายที่ยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชน ขอให้ย้อนดูว่าสิ่งที่นายจุรินทร์พูดมีความเท็จและจริงอย่างไร และที่นายจุรินทร์พูดอย่างนี้ ชาวบ้านชาวเมืองที่ฟัง ก็รู้ว่า อยู่ข้างกลุ่มผู้ชุมนุม



วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พบมือปาแก๊สน้ำตาเสื้อขาว เผยเป็นชายอยู่นอกรั้วบช.น.

พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าววันนี้ (30 ส.ค.) ถึงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนคดีมือปาระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนที่ชุมนุมบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ค่ำวานนี้ ว่า จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ที่ได้ตรวจสอบเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ที่สื่อมวลชนบันทึกภาพไว้ พบว่า มือปาระเบิดแก๊สน้ำตาเป็นชายสวมเสื้อขาว อยู่บริเวณด้านนอกรั้วของกองบัญชาการตำรวจนครบาล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้มีการตั้งข้อกล่าวหา เนื่องจากต้องตรวจสอบข้อมูลอื่นๆอย่างรอบคอบก่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาด

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวต่อถึงการประชุมที่มี พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมหารือ ได้สรุปสถานการณ์วันนี้ ว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ปักหลักชุมนุมอย่างต่อเนื่องบริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล มีอยู่ประมาณ 25,000 คน ขณะที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) บริเวณท้องสนามหลวงมีประมาณ 8,000 คน จึงได้สั่งการให้นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไปดูแลรักษาความปลอดภัย พร้อมกำชับให้แยกผู้ชุมนุมทั้งสองกลุ่มออกจากกันอย่างเด็ดขาด ส่วนการประชุม 2 สภา ที่รัฐสภา วันพรุ่งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะวางกำลังตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ใดเข้าไปขัดขวางการประชุมได้

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

สมัครเผยยังอดกลั้นอยู่ ยันไม่ประกาศเคอร์ฟิว


ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ขณะนี้ (29 ส.ค.) สำหรับท่าทีของ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ยังคงปฏิบัติภารกิจตามปกติ โดยในช่วงเช้าได้ให้สัมภาษณ์หลังตรวจเยี่ยมกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่า การเข้าดำเนินการกับผู้ชุมนุม เป็นไปตามคำสั่งศาล
ล่าสุด เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี แถลงข่าวเพิ่มเติม โดยเตือนบรรดารัฐวิสาหกิจว่า ไม่ควรทำให้ประชาชนเดือดร้อนจากการหยุดงาน ขณะเดียวกันยืนยันจะต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม และไม่ลาออก ตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม พร้อมย้ำจะไม่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (เคอร์ฟิว) ในขณะนี้
โดยจะอดกลั้นให้ถึงวันพรุ่งนี้ (30 ส.ค.) ซึ่งจะมีงานใหญ่ที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร จะทรงเสด็จเป็นองค์ประธานมอบธงในงาน 116 วัน จากวันแม่ถึงวันพ่อ ซึ่งจะจัดขึ้นในสวนอัมพร ไม่อยากให้เสียบรรยากาศ
"ก็ยังอดกลั้นอยู่ ไม่ถอย จะอยู่ตรงนี้ ทนได้ แม้ว่าจะมีอำนาจในมือ แต่ก็จะไม่ไปทำร้ายให้ใครเสียหาย" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ม็อบมัฆวานฯยึดพื้นที่คืนแล้ว

โดยรสนา นำทีม 30 ส.ว.ขึ้นเวทีพันธมิตรฯที่ทำเนียบรัฐบาล โจมตีใช้ความรุนแรงสลายม็อบ ด้านม็อบมัฆวานฯ ได้เฮ! ฝ่าด่าน จนท.เข้ายึดเวทีปราศรัยคืนได้แล้ว
วันนี้ (29 ส.ค.) แผนการนำหมายประกาศศาลแพ่งที่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนออกจากพื้นที่ทำเนียบรัฐบาล ของเจ้าพนักงานบังคับคดี และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ภายหลังการหารือร่วมกันสรุปจะนำประกาศไปติดทั้งหมด 5 จุด โดยจุดแรกคือที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ โดยเมื่อเวลา 09.45 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วม 1,000 นายพร้อมด้วยโลห์และกระบอง ได้ฝ่าแนวรั้วของกลุ่มพันธมิตรฯ จนกระทั่งสามารถเข้าไปยึดพื้นที่ได้สำเร็จ พร้อมทั้งได้ทำการรื้อถอนเต้นท์ และเวทีปราศรัยพันธมิตรฯที่สะพานมัฆวานฯ ทันทีส่วนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 10.10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังพยายามฝ่าแนวกั้นของการ์ดพันธมิตรฯที่ประตู 5 ฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีเหตุการปะทะกันขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่ห์ประจำกายผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมจนสามารถเข้ามาในพื้นที่ทำเนียบฯได้สำเร็จ พร้อมกับควบคุมตัวกลุ่มผู้ชุมนุมได้บางส่วนที่พยายามขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้านประตู 7 ของทำเนียบฯ บริเวณสำนักเลขาฯ ข้างคลองตรงข้ามวัดโสมนัส ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในจุดนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ทั้งชายและหญิงประจำการอยู่ค่อนข้างเยอะ ในส่วนของกลุ่มผู้ชุมนุมเอง ได้มีการนำเศษกระเบื้องหลังคา และเก้าอี้มาขวางไว้ และจัดผู้ชุมนุมหญิง และผู้สูงอายุเป็นแนวกั้นขวางเจ้าหน้าที่ไว้ โดยในจุดนี้ไม่มีความตรึงเครียดใดๆ เห็นได้จากกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนได้ส่งขนมและน้ำดื่มให้กับเจ้าหน้าที่ อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหน้าที่สามารถฝ่าเข้าไปได้ จะเข้าไปสู่ตึกนารีสโมสร แต่ก็ยังไม่มีการฝ่าวงล้อมเข้าไปเนื่องจากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นหญิงและคน
ชราขณะที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ซึ่งมีเวทีปราศรัยนั้น เหล่าแกนนำยังคงขึ้นกล่าวปลุกใจให้ผู้ชุมนุมปักหลักสู้ต่อไป
ส่วนสถานการณ์ที่แยกมิสกวัน เจ้าหน้าที่ได้เคลียร์พื้นที่และรื้อเต็นท์ของผู้ชุมนุมแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้มีเหตุปะทะกันเล็กน้อย โดยจากการเข้าตรวจค้นพบไม้กอล์ฟและไม้ท่อนจำนวนมาก ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงชุมนุมอยู่นอกแนวรั้วที่เจ้าหน้าที่กั้นไว้.เมื่อเวลา 12.50 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้ามาประชิดประตู 7 ทำเนียบรัฐบาล บริเวณด้านหลังตึกนารีสโมสร กลุ่มพันธมิตรได้นำกุญแจมาคล้อง พร้อมทั้งได้มีการอ๊อกเชื่อมประตูติดกัน เพื่อป้องกันการฝ่าด่านเข้ามาของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ มีรายงานว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ต่อไฟฟ้าจากแบ็ตเตอรี่ ไปยังประตูด้วย เพื่อไม่ให้ตำรวจเข้ามาจับความคืบหน้าที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ เมื่อเวลา 14.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว. กรุงเทพฯ พร้อมด้วยทีม ส.ว.จำนวน 30 คน เดินทางมาให้กำลังใจกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งอยู่นอกแนวกั้นเวทีปราศรัย ซึ่งก่อนหน้านี้ น.ส.รสนา ได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่ทำเนียบรัฐบาลกล่าวโจมตีการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมจากนั้นเมื่อเวลา 14.30 น.ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่นอกแนวกั้นได้ฝ่าด่านเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปยังพื้นที่เวทีปราศรัยสะพานมัฆวานฯ ได้แล้ว.

ที่มา http://news.sanook.com/politic/politic_300611.php

วันพฤหัสบดีที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พันธมิตรฯ ใกล้ถึงทางตัน ศาลสั่งไม่ทุเลาบังคับคดี



ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าหลังจาก นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมาศาลแพ่งเพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลแพ่งให้ออกจากทำเนียบรัฐบาล พร้อมยื่นทุเลาบังคับคดี นั้น ล่าสุด ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ทุเลาการบังคับคดี ตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว แต่รับคำร้องอุทธรณ์ไว้พิจารณา โดยจะนัดฟังคำสั่งอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลอาญา เพิกถอนหมายจับ 9 แกนนำพันธมิตรฯในข้อหาเป็นกบฎ ศาลอาญาจะรับไว้พิจารณา แล้วจะมีคำสั่งว่า จะรับคำร้องหรือไม่ในวันพรุ่งนี้ (29 ส.ค.)
ล่าสุด มีรายงานว่า เจ้าพนักงานบังคับคดี ประมาณ 5 คน เดินทางไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล คาดจะเข้าหารือกับ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง และประสานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อรื้อถอนสิ่งก่อสร้างภายในทำเนียบรัฐบาล และย้ายผู้ชุมนุมตามคำสั่งบังคับคดี
ขณะที่ตำรวจส่วนหนึ่งได้นำป้ายผ้า เขียนข้อความ “ห้ามเข้า ตามคำสั่งศาล ผู้ฝ่าฝืนมีโทษตามกฎหมาย” ไปติดตามแผงเหล็ก บริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาล
ด้านนายธงทอง จันทรางศุ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีศาลแพ่งสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อบังคับกลุ่มพันธมิตรฯ ออกจากทำเนียบรัฐบาล ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีคงจะออกประกาศของกรมบังคับคดีไปปิดประกาศที่หน้าทำเนียบฯ ให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบฯ ทันที ตามคำสั่งของศาล ไม่ทันภายในเย็นวันนี้
“หากเจ้าพนักงานปิดประกาศแล้ว ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล ถ้ายังฝ่าฝืน สำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นโจทก์ ก็จะร้องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จากนั้นเจ้าพนักงานฯ จะร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ออกหมายจับแกนนำพันธมิตรฯ อีกครั้ง” นายธงทอง กล่าว

Credit : http://www.thairath.co.th/

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เตชเร่งแจงทั่วโลก 'พระพยอม' เตือนพธม.นึกถึงชาติ


วันนี้ (27 ส.ค.) นายเตช บุนนาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรณีเหตุการณ์ประท้วงโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ว่า เมื่อวานนี้ (26 ส.ค.) กระทรวงการต่างประเทศได้สรุปลำดับเหตุการณ์ดังกล่าวแจ้งสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ทุกแห่งทั่วโลก เพื่อใช้ในการชี้แจงหากได้รับการสอบถาม และวันนี้ กระทรวงการต่างประเทศจะรายงานความคืบหน้าให้สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ทั่วโลกทราบเพิ่มเติม
นายเตช กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยบ้าง แต่หวังว่าสถานการณ์ต่างๆ จะไม่บานปลายและจะไม่เกิดความรุนแรง เพราะจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทย โดยเฉพาะขณะนี้เศรษฐกิจของไทยกำลังเติบโตด้วยดี รัฐบาลพยายามหามาตรการส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตต่อ อย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนหลังของปี เพื่อให้เท่าเทียมกับอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 5.3
นายเตช กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตทางการเมืองและกระบวนการประชาธิปไตยของไทย แต่การที่พันธมิตรฯ บุกรุกสถานที่ราชการ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหน่วยงานทางราชการที่เกี่ยวข้องกำลังดูแลสถานการณ์อยู่ และในขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดสอบถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาที่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะประเทศต่าง ๆ สามารถติดตามสถานการณ์ได้จากรายงานข่าวต่าง ๆ และไม่คิดว่าสถานเอกอัครราชทูตต่างประเทศในประเทศไทยจะสอบถามกระทรวงการต่างประเทศ เพราะสามารถติดตามข่าวทางสื่อต่างๆ ในประเทศไทยได้อยู่แล้ว
เมื่อถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อการทำเรื่องขอลี้ภัยในอังกฤษของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีหรือไม่ นายเตช กล่าวว่า ไม่ทราบข้อมูลว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะยกสถานการณ์ปัจจุบันมาเป็นข้ออ้างหรือไม่ และไม่ทราบด้วยว่าขณะนี้ พ.ต.ท. ทักษิณ ได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว ส่วนกรณีหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น นายกรัฐมนตรีได้แจ้งให้ทราบว่า ได้รับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศแล้ว และจะรับเรื่องนี้ไปพิจารณา
ทางด้านพระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว จ.นนทบุรี ซึ่งเวลานี้จำพรรษาอยู่ที่ศูนย์ร่มโพธิ์แก้ว บ้านวังปลัด ต.บ้านแพ อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ได้ออกมาเทศน์เตือนสติประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวชุมนุมในขณะนี้ ว่า ขอให้ทุกฝ่ายยึดหลักความสามัคคี อย่าใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา หรือมุ่งเอาชนะแต่เพียงอย่างเดียว ให้นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติบ้านเมือง เพราะผลสรุปจะมีแต่ความสูญเสีย และทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนา ขอทุกฝ่ายใช้วิจารณญาณว่าสิ่งที่กระทำอยู่ในขณะนี้ถูกต้อง มีประโยชน์ต่อตนเองหรือประเทศชาติหรือไม่ ส่วนฝ่ายรัฐบาลขอให้ใช้ดุลยพินิจในการแก้ไข หลีกเลี่ยงการตอบโต้

Credit : http://www.thairath.co.th

ออกหมายจับ 9 แกนนำ ข้อหากระทำการ 'กบฎ'


เมื่อเวลาประมาณ 16.00 น. ที่ผ่านมา (27 ส.ค.) ศาลอาญา ถ.รัชดาฯ ได้อนุมัติหมายจับแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และแนวร่วมทั้ง 9 คน ตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาลแล้ว
สำหรับผู้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจขออนุมัติออกหมายจับประกอบด้วย 1. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 2. นายสนธิ ลิ้มทองกุล 3. นายพิภพ ธงไชย 4. นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 5. นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 6. นายสุริยะใส กตะศิลา 7. นายชัยวัฒน์ สินสุวงศ์ 8. นายอมร อมรรัตนานนท์ และ 9. นายเทิดภูมิ ใจดี
ส่วนข้อหา ได้แก่ 1. ในความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรือ อำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือ จำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113
2. สะสมกำลังพลหรืออาวุธ ตระเตรียมการ หรือ สมคบกันเพื่อเป็นกบฏ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี มาตรา 114
3. มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้ายหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามมาตรา 215 และ 216
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนี้ ทางพนักงานสอบสวนจะนำหมายจับกลับไปหารือกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะจะมีวิธีการเข้าไปจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับทั้ง 9 คนอย่างไร ซึ่งจะต้องวางแผนดำเนินการอย่างรัดกุม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย
Credit : http://www.thairath.co.th/

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

พันธมิตรฯบุกเข้ายึดสถานีNBT

ม็อบพันธมิตรฯเคลื่อนกำลังพลเข้าปิดล้อมทำเนียบ อีกส่วนเข้ายึดสถานีโทรทัศน์ NBTพร้อมสั่งเจ้าหน้าที่ห้องส่งให้หยุดออกอากาศ ทำให้ NBTจอดำทันที (26ส.ค.) ที่สะพานมัฆวานฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่เวลา 04.00 น.วันนี้ กลุ่มพันธมิตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เริ่มทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานฯกว่าแสนคน ต่อมาเวลา 04.30 น.นายสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำพันธมิตรฯคนอื่นขึ้นเวทีพร้อมกันและกล่าวสดุดีขอพรแด่พระผู้ทรงกู้ผืนแผ่นดินไทยในอดีต ก่อนจุดเทียนชัยนำกฤษ์ในการต่อสู้ครั้งสำคัญ ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนมากเข้าร่วมอย่างคึกคักเนืองแน่น
จากนั้น เวลา 05.45 น.นายสนธิ อ่านประกาศพันธมิตรฯ ฉบับที่ 12/2551 เรื่องกำหนดเป้าหมายและวิธีชุมชุนนุมสร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่า เป้าหมายหลักของพันธมิตรฯคือการขับไล่รัฐบาลเพื่อกอบกู้ประชาเทศชาติ พันธมิตรฯได้กำหนดแนวทางการเคลื่อนไหวของกองทัพประชาชน ดังนี้ 1.กองทัพประชาชนจะชุมนุมกันอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 63 ของรัฐธรรรมนูญ และให้พี่น้องประชาชนชุมนุมยึดสันติ ไม่ใช้วาจายั่วยุ ไม่ทำลายสถานที่ราชการ 2.หลายปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์แล้วว่าการชุมนุมอย่างสงบ อหิงสา ปราศจากอาวุธไม่เคยเกิดเหตุร้ายแรง หากใครก็ตาม ก่อเหตุยั่วยุก่อกวน สร้างเงื่อนไข ให้เกิดความรุนแรง ให้ถือว่าเป็นผู้ไม่หวังดี เป็นอันธพาลของรัฐบาล ขอเรียกร้องให้ตำรวจจัดการทันที และถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล 3.ประชาชนจำนวนมากใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 มีความจำเป็นต้องปิดช่องจราจร ให้ราชการบางแห่งไม่สามารถเข้าทำงาน เป็นการแสดงพลังประชาชน พร้อมกันนี้ ก็ขอเชิญชวนข้าราชการร่วมชุมนุม และเพื่อความสำเร็จขอให้กองทัพประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งของเวทีใหญ่อย่างเคร่งครัด
นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ระบุว่า ขณะนี้มีกลุ่มผุ้ชุมนุมเข้าปิดล้อมสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 หรือเอ็นบีทีไว้หมดแล้วเป็นจุดแรก ตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง พร้อมประกาศระดมกลุ่มผุ้ชุมนุมเพิ่มเติมอีกหลายพันคน เพื่อเดินทางไปสมทบที่เอ็นบีทีเป็นระยะๆ ทั้งนี้ กลุ่มผุ้ชุมนุมชุดแรกที่เคลื่อนขบวนไปยังเอ็นบีที มีนายวัชระ เพชรทอง เป็นแกนนำนำกลุ่มผุ้ชุมนุมไปสมทบเพิ่มเติมอีก 5 คันรถ โดยจุดนัดพบที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กล่าวว่า ขณะนี้ที่สถานีโทรทัศน์ NBT กลุ่มพันธมิตรฯมีกำลังน้อยจึงขออาสาสมัครในกลุ่มจำนวนหนึ่งเดินทางไปร่วมชุมนุมเพิ่มเติม โดยขึ้นรถบัสที่จอดอยู่บริเวณลานพระบรมรูปฯนำโดยนายสนธิ และนายวัชระ เพ็ชรทอง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลาดังกล่าวปรากฎว่า สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีได้แพร่ภาพชายฉกรรจ์กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งแต่งกายมิดชิดจำนวนหนึ่ง มีผ้าปิดหน้าคล้ายชุดโม่งเข้าไปบนที่ทำการสถานีโทนทัศน์จำนวนหลายคน เพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตร ปราศรัยบนเวทีว่า การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้เราต่อสู้อย่างสงบ สันติ ห้ามทำลายข้าวของ ขอให้ผู้ร่วมชุมนุมเตรียมน้ำ และอาหารมาให้พร้อม ล่าสุดได้รับการประสานงานจากสนามราชตฤณมัยสมาคมว่า หากมีผู้ว่าร่วมชุมนุมจำนวนมาก ทางสนามม้านางเลิ้งพร้อมให้ใช้ห้องน้ำได้ ขณะที่ กทม.จะสนับสนุนรถสุขาเพิ่มเติม และกทม.ยังเตรียมรถพยาบาลเผื่อกรณีฉุกเฉินเพิ่มให้อีก 10 คัน ต่อมา เวลา 06.30 น.แกนนำพันธมิตรฯประกาศให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนกำลังปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เวลาเดียวกัน พิธีกรรายการ"ข่าวยามเช้า"สถานีโทรทัศน์ NBT กล่าวในรายการว่า เวลา 05.30 ที่บริเวณทางแยกสุทธิสาร มีคนเข้าปิดล้อม สถานีโทรทัศน์ NBT มีชายประมาณ 50 คน แต่งกายชุดดำ โพกผ้าสีดำ ถืออาวุธปืนไทยประดิษฐ์ อาวุธปืน มีดและไม้ บุกเข้ายังสถานี สั่งให้เจ้าหน้าที่ประมาณ 100 คน ออกจากสถานีและห้ามออกอากาศ แต่หลังจากนั้นประมาณ 10 นาที เจ้าหน้าที่ตำรวจก็คุมสถานการณ์ไว้ได้และควบคุมตัวชาย 4 คนพร้อมอาวุธปืนและมีด นายสุริยงค์ บุณฑสาร รักษาการผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ NTB กล่าวในรายการห้องข่าวรับอรุณว่า มีชายกว่า 50 คน อ้างเป็นนักรบศรีวิชัยบุกเข้าไปที่ ต้องการไม่ให้ NBT ออกอากาศ กระจกประตูชั้น 6 แตกเสียหาย อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและให้สถานีออกอากาศให้ได้ แต่สิ่งที่กังวลก็คือจะพันธมิตรฯเดินทางมาร่วมชุมนุมเพิ่มเติม เกรงว่าจะเข้ามาทำลายทรัพย์สินราชการ และไม่แน่ใจว่าประตูที่ปิดไว้จะรับมือได้หรือไม่ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พันธมิตรฯได้แบ่งกำลังออกหลายส่วน เข้าปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล สถานีโทรทัศน์ NBTกระทรวงการคลังกระทรวงศึกษา กระทรวงคมนาคม และเข้าปิดล้อมสถานที่ราชการสำคัญหลายแห่ง ต่อมาเวลา 08.30 น. กลุ่มพันธมิตรฯได้บุกเข้าไปสถานีโทรทัศน์ NBT โดยกำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้านทานไม่อยู่ เมื่อบุกยึดNBTได้ทางพันธมิตรฯได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ห้องส่งหยุดการออกอากาศ เป็นเหตุให้ NBT จอดำทันที

ที่มา www.sanook.com

วันอาทิตย์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2551

“จำลอง” ประกาศดีเดย์ล้มรัฐบาล




สำหรับบรรยากาศการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่บริเวณสะพานมัฆวานฯ ยังมีการชุมนุมอย่างคึกคักอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 91 วันแล้ว โดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า ในเวลา 07.00 น. วันที่ 26 ส.ค. นี้ จะนัดชุมนุมใหญ่ที่สุดเพื่อขับไล่รัฐบาลทั้งคณะ อาจจะมีมาตรการบางอย่างที่จะขับไล่รัฐบาลชุดนี้ให้ได้ โดยจะไม่ไปขับไล่ที่ทำเนียบรัฐบาลแห่งเดียว แต่จะไปในจุดยุทธศาสตร์สำคัญๆของรัฐบาลและไม่ใช้การไปแบบยุทธศาสตร์ดาวกระจาย แต่ไปแบบเป็นปึกแผ่น จะมีคนมาขับไล่เป็นแสนๆและจะมากกว่าทุกม็อบที่ผ่านมา โดยในวันที่ 25 ส.ค. หลังการเคลื่อนขบวนไปโรงเรียนโยธินบูรณะ เพื่อไปให้กำลังใจนักเรียนและผู้ปกครอง แกนนำพันธมิตรฯ จะประชุมหารือกัน เพื่อกำหนดมาตรการการเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่าหากรัฐบาลไม่ลาออกกลุ่มพันธมิตรฯจะดำเนินการอย่างไร พล.ต.จำลองตอบว่า กลุ่มพันธมิตรฯมีการประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา รู้ว่าประชาชนรับไม่ได้กับรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องมีการดำเนินการขั้นเด็ดขาด
เผยเหตุผลยุทธการเป่านกหวีด


นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ กล่าวว่า ความจำเป็นที่พันธมิตรฯประกาศยุทธการเป่านกหวีด เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ลี้ภัยไปอยู่ประเทศอังกฤษ จ้างบริษัทประชาสัมพันธ์ต่างชาติ ทำการบิดเบือนข้อมูลเรื่องสถาบัน และทำลายความ ชอบธรรมของตุลาการ สังเกตได้จากกรณีนิตยสารต่างชาติฉบับหนึ่ง ที่มีการบิดเบือนเรื่องทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ อีกเหตุผลหนึ่งคือรัฐบาลมีคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์คืนเงินที่อายัด ส่วนเรื่องการยกเลิกพาสปอร์ตของ พ.ต.ท.ทักษิณ พันธมิตรฯมองว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ชี้มาแล้วว่าเป็นนโยบายรัฐบาล ดังนั้นนายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ควรแสดงจุดยืนเรื่องนี้ว่าจะดำเนินการอย่างไร สำหรับยุทธการเป่านกหวีดที่จะมีขึ้นยังบอกไม่ได้ว่า จะมีการเคลื่อนขบวนไปที่ไหน โดยจะประกาศบนเวทีช่วงเช้าวันที่ 26 ส.ค. เพราะเกรงว่าทางรัฐบาลทราบแล้วจะสกัดกั้น แต่ยืนยันว่ายุทธการครั้งนี้จะเป็นไปในแบบอหิงสาสันติ แต่ก็ต้องระวังมือที่สาม หรือฐบาลจะมาก่อสถานการณ์ซ้อนให้เกิดความวุ่นวาย



Credit : http://www.thairath.co.th/

วันพุธที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ไทย-กัมพูชา ตกลงกัน 5 ข้อให้ถอนทหาร


ไทย-กัมพูชา'ประชุมชื่นมื่น ตกลงกัน5ข้อให้ถอนทหาร การประชุมทวิภาคีเกี่ยวกับปัญหาข้อพิพาทระหว่าง ไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ของรัฐมนตรีต่างประเทศไทยและกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ที่โรงแรมดุสิตธานีหัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ได้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อเช้าวันที่ 19 ส.ค. และได้ข้อสรุปไปในแนวทางที่ดีถึงการถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.เพชรบุรีว่า เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 19 ส.ค. ที่ห้องเดอะรอยัลดุสิตฮอลล์ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศ พร้อมคณะ เปิดประชุมเจรจา กับคณะของนายฮอร์ นัม ฮอง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ว่าด้วยปัญหาชายแดนปราสาทพระวิหารครั้งที่ 2 ซึ่งต่อเนื่องจากการประชุมเจรจาที่ จ.เสียมราฐ กัมพูชา เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ทั้งนี้ คณะผู้แทนของทั้ง 2 ฝ่ายได้จับมือทักทายกัน ก่อนเข้าห้องประชุมด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การประชุมเจรจาครั้งนี้กระทรวงการต่างประเทศอนุญาตให้เฉพาะสื่อมวลชน ที่ลงทะเบียนไว้กับกองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ เข้าทำข่าวได้เท่านั้น และจำกัดพื้นที่ให้สื่อมวลชนอยู่ภายในห้องที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้ ส่วนการรักษาความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ คอยดูรักษาความปลอดภัย และตรวจวัตถุระเบิดคนเข้าและออกอย่างเข้มงวด รวมทั้งบริเวณโดยรอบโรงแรม มีตำรวจประจำอยู่เป็นจุดๆ โดยเฉพาะบริเวณด้านข้างโรงแรม ที่ติดกับบ้านพักตากอากาศของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น มีตำรวจในเครื่องแบบประจำอยู่ 1 นาย คอยห้ามไม่ให้คนไปถ่าย ภาพตัวบ้าน ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่กำลังปรับปรุงอยู่ นอกจากนี้ ไม่ปรากฏกลุ่มประชาชน มาชุมนุมประท้วงแต่อย่างใด
นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รูปแบบประชุมเจรจาครั้งนี้ จะเป็นแบบเต็มคณะทั้ง 2 ฝ่าย จากนั้นมอบหมายให้คณะทำงานกลุ่มย่อยไปหารือกันก่อนที่จะกลับมาประชุมเต็มคณะอีกครั้งในช่วงบ่าย กระทั่งเวลา 16.00 น. รมว.ต่างประเทศของไทยจะนำนายฮอร์ นัม ฮง เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ หวังว่าจะมีข่าวดีจากการประชุมครั้งนี้ สำหรับประเด็นในการหารือ เริ่มต้นด้วยกรณีพื้นที่ชายแดนรอบปราสาทพระวิหารเป็นเรื่องหลัก ที่ต่อเนื่อง จากการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) ไทย-กัมพูชา และการเจรจาระหว่าง รมว.ต่างประเทศเมื่อครั้งที่แล้ว รวมทั้งจะหารือเกี่ยวกับการทำงาน ของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าการทำงานของเจบีซี ยังไม่มีความชัดเจน จะส่งผลกระทบต่อการที่กัมพูชา จะต้องส่งเอกสารแผนที่และพื้นที่กันชนให้กับคณะกรรม การมรดกโลกพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ในเดือน ก.พ.2552 นายธฤต ตอบว่า อย่าไปมองไกลและอย่าไปมองในแง่ลบ ทุกอย่างมีทั้งแง่บวกและลบ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมนอกรอบของฝ่ายไทยเมื่อค่ำวันที่ 18 ส.ค. ไม่ได้มีการตั้งธง เพราะจะทำให้การทำงานได้ยากเกินไป แต่อยากให้สถานการณ์ ขับเคลื่อนไปในทางบวก การหารือเรื่องเขตแดนไม่ว่าระหว่างประเทศใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ค่อนเรื่องซับซัอน ดังนั้น แม้จะมีความคืบหน้าไม่มาก แต่ต้องใช้ความอดทน ไม่อยากให้ปัญหาเดียวกลายเป็นปัญหาระหว่าง 2 ประเทศ ต้องใช้เวลาและความใจเย็น และมองภาพรวมของความสัมพันธ์เป็นหลัก การยุติการเผชิญหน้าเป็นความคาดหวังของทุกฝ่าย เพราะอยากให้เหตุการณ์ กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุม รมว.ต่างประเทศ ไทย-กัมพูชาจากโรงแรมดุสิตธานี หัวหิน ว่า หลังจากเปิดการประชุมเจรจาเต็มคณะของทั้ง 2 ฝ่ายในช่วงเช้า ได้มีการ แยกประชุมเป็นกลุ่มย่อย กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. มีการพักประชุมชั่วคราว เนื่องจากนายเตช บุนนาค รมว. ต่างประเทศ ต้องนำนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา เดินทางไปเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้การประชุมตลอดทั้งวัน บรรยากาศเป็นไปด้วยดี โดยเฉพาะข้อขัดแย้งในการปรับกำลังทหาร ในพื้นที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวราและสามารถปรับกำลังทั้ง 2 ฝ่ายลงได้ ทำให้การเจรจาสามารถก้าวต่อไปได้ ส่วนปัญหาชุมชนชาวกัมพูชา ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ยังไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ ซึ่งจะต้องมีการเจรจาต่อไปในการประชุมครั้งหน้าในเดือน ก.ย.ที่กัมพูชา อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมกลุ่มย่อยยังเห็นพ้องว่ากระบวนการในคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ที่ดูแลการปักปันเขตแดน โดยเฉพาะชายแดนปราสาทพระวิหารควรจะเดินหน้าได้แล้ว
ขณะเดียวกันเมื่อเวลา 15.30 น.นายสมาน สีงาม แกนนำกลุ่มธรรมยาตราที่เคลื่อนไหวคัดค้าน กรณีการนำปราสาทพระวิหาร ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกพร้อมพวกจำนวน 10 คน ได้มายืนอ่านคำแถลงการณ์ประท้วง การประชุม รมว.ต่างประเทศ ไทย-กัมพูชา อยู่บริเวณปากทาง เข้าโรงแรมดุสิตธานี ริมถนนเพชรเกษม เมื่ออ่านเสร็จได้เดินทางกลับทันที โดยไม่ได้ก่อความวุ่นวายใดๆ
สำนักข่าวต่างประเทศทั้งเอพีและเอเอฟพี รายงานถึงการพบกันระหว่างนายเตช บุนนาค รมว.ต่างประเทศของไทย กับนายฮอร์ นัมฮง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา เพื่อเจรจาข้อตกลงอย่างเป็นทางการที่ อ.หัวหิน กรณีพื้นที่พิพาทปราสาทพระวิหาร ซึ่งยืดเยื้อเป็นเวลาเดือนเศษ นับแต่คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ประกาศให้ปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกของกัมพูชา ยกเว้นพื้นที่โดยรอบ ซึ่งการเจรจาเบื้องต้นยังไม่ได้ข้อสรุป ทั้งนี้ นายธฤต จรุงวัฒน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกประจำกระทรวงการต่างประเทศของไทย เผยว่า สถานการณ์จนถึงขณะนี้ถือว่า ดีขึ้นมากทีเดียว ระหว่างทหารทั้งสองฝ่ายบริเวณชายแดน ทำให้ความตึงเครียด เริ่มผ่อนคลายลงและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกอย่างจะคืนกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ นายฮัง โสธ ผู้อำนวยการดูแลปราสาทพระวิหารเผยว่า ทหารทั้งสองฝ่ายถอนกำลังส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ คงเหลือไว้ฝ่ายละ 10 นาย บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร ส่วนนายฮอร์ ก็มองในทางที่ดี เพราะรัฐบาลกัมพูชาเอง ก็ปรารถนาจะแก้ปัญหานี้ร่วมกับไทยโดยสันติและด้วยมิตรไมตรี เพราะเราต่างก็แบ่งปันผลประโยชน์ ทั้งด้านการค้าและทางเศรษฐกิจด้วยกันมาก
ต่อมาเวลา 18.20 น. ภายหลังกลับจากนำนายฮอร์ นัม ฮง เข้าเฝ้าฯ นายเตชได้เข้าประชุมเจรจาเต็มคณะกับนายฮอร์ นัม ฮง อีกรอบ กระทั่งเวลา 20.00 น. นายเตชและนายฮอร์ นัม ฮง ได้ร่วมแถลงผลการประชุม โดยนายเตชกล่าวว่า ทั้ง 2 ฝ่ายพอใจกับความสำเร็จของการเจรจายังผลให้ความตึงเครียดลดลง ทั้งนี้ มีผลการประชุมดังนี้
1.ทั้ง 2 ฝ่ายยินดีที่มีการปรับกำลังขั้นแรกของแต่ละฝ่ายออกจากพื้นที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวารา พื้นที่รอบวัดและปราสาท พระวิหาร และตกลงที่จะจัดการประชุมครั้งที่ 2 ระหว่าง พล.อ.เนียง พาด รมช.กลาโหมกัมพูชา หัวหน้าชุดประสาน งานชั่วคราวของฝ่ายกัมพูชากับ พล.ท.สุจิตร สิทธิประภา แม่ทัพภาคที่ 2 ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคฝ่ายไทยเพื่อหารือการปรับกำลังขั้นที่ 2 ในวันที่ 29 ส.ค. ที่ จ.เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา
2.ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะเสนอต่อรัฐบาลของตน ให้ความเห็นชอบจัดประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ครั้งต่อไป ในช่วงต้นเดือน ต.ค.นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องภายใต้ข้อกำหนดอำนาจหน้าที่และแผนแม่บทของเจบีซี (เขาสัตตะโสม-หลักเขตแดนที่ 1) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญกฎหมายไทย-กัมพูชา
3.จะจัดประชุมระหว่าง รมว.ต่างประเทศไทย-กัมพูชาอีกครั้งภายหลังจากที่มีการประชุมเจบีซี
4.ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะเสนอต่อรัฐบาลของตนเอง ให้จัดทำข้อตกลงชั่วคราวเพื่อใช้ในระหว่างที่ดำเนินการของเจบีซียังไม่แล้วเสร็จ สำหรับไทยจะต้องจัดทำข้อตกลงดังกล่าว ตามข้อกำหนดตามขั้นตอนและข้อกำหนด ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในของไทย และ 5.ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงที่จะพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับกลุ่มปราสาทตาเมือนธมในการประชุม รมว.ต่างประเทศในครั้งต่อไป
นายฮอร์ นัมฮง กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง โดยเฉพาะได้มีการถอนทหารออกจากเขตดังกล่าวเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเจตนาดีของรัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายเราจะแก้ปัญหาโดยสันติวิธีสันติภาพ และตามกฎหมาย กัมพูชากับไทยไม่ใช่ประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น แต่มีอารยธรรม วัฒนธรรม ศาสนา และมีพระมหากษัตริย์คล้ายกัน เราอยู่ใกล้กันมาก อยู่ในครอบครัวอาเซียนด้วยกัน จึงไม่มีสาเหตุใดที่จะไม่แก้ปัญหาด้วยสันติวิธี ขณะนี้ก้าวไปข้างหน้าแล้ว จะไม่กลับหลังไปอีกและเราต้องพยายามอดทน เพราะเห็นพ้องกันว่าในทศวรรษที่ 21 เลยเวลาที่จะเผชิญหน้ากันด้วยการทหาร ถือเป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่ประชาชนแก้ปัญหาไปในทางบวก
นายฮอร์กล่าวอีกว่า กัมพูชาจะเป็นฝ่ายถอนทหาร หมดออกจากปราสาทพระวิหารเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มถอน ทหารออกจากพื้นที่ดังกล่าว แต่จะยังมีกำลังตำรวจและสารวัตรทหาร เอาไว้รอบปราสาท ส่วนการถอนคำร้องของกัมพูชา เกี่ยวกับข้อพิพาทดังกล่าวออกจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) นั้น จะใช้ เวลาพิจารณาสั้นที่สุด เพราะเราได้เจรจามา 2 ครั้งแล้ว ซึ่งคาดจะจัดทำได้เร็วๆ นี้ และเป็นความเชื่อมั่นของตน แต่ยังไม่ได้แจ้งต่อรัฐบาลกัมพูชา
ต่อข้อถามว่าถ้ากัมพูชาไม่สามารถจัดส่งเอกสารแผนที่พื้นที่กันชน แก่คณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ภายในเดือน ก.พ. 2552 จากการที่ไทยและกัมพูชายังไม่สามารถปักปันเขตแดนกันได้ จะส่งผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกหรือไม่ นายฮอร์ ตอบว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารนั้น ฝ่ายกัมพูชาได้จัดทำเอกสาร แผนการบริหารพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร เพื่อยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก และก่อนจะยื่นเอกสารดังกล่าว จะมีการประชุมคณะกรรมการ ประสานงานร่วมสากล (ไอซีซี) อีกครั้ง ที่จะมีขึ้นช่วงก่อนเดือน ก.พ. 2552
เมื่อถามว่ากัมพูชาจะเปิดด่านขึ้นปราสาทพระวิหารได้เมื่อใด และจะเริ่มฟื้นการเจรจาเจบีซีได้เมื่อใด นายฮอร์ นัมฮง ตอบว่า ยังมีทหารอยู่รอบๆปราสาทพระวิหารแค่ 30 คน แต่เรายังไม่ได้แก้ไขได้โดยสงบ และถ้าถอนทหารหมดแล้วพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์เป็นไปโดยสงบ เราก็จะพิจารณาเปิดด่านทางขึ้นปราสาทพระวิหาร
อีกด้านเที่ยงวันเดียวกัน ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ให้สัมภาษณ์ถึงการปรับกำลังทหารไทย ในพื้นที่เขาพระวิหารว่า แนวทางที่ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันคือ ลดความตึงเครียดที่จะนำไปสู่การกระทบกระทั่งกัน โดยใช้เวทีทวิภาคีพูดกัน ปรับกำลังทหารให้เหลือน้อยที่สุด หรือไม่มี ก็แล้วแต่ ตามที่พูดคุยกันที่เสียมราฐ กัมพูชา ซึ่งมีมติให้รัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศ นำไปเสนอคณะรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศ ให้พิจารณาคือการลดกำลังส่วนแรกลง เพื่อลดการเผชิญหน้าที่ใกล้กันมาก คือบริเวณวัด ฝ่ายกัมพูชาปรับกำลังไปแล้วหนึ่งครั้ง บริเวณวัดเหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การประชุมครั้งนี้ จะพูดคุยกันอีกในประเด็นนี้ หากกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งสองประเทศตกลงกันอย่างไร คงจะนำไปให้รัฐบาลของสองประเทศพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นจึงจะมีการสั่งการ ไม่ทราบว่า การประชุมจะลดเพิ่มกำลังอย่างไร
“ความคิดผมหากมีการลดกำลังทหาร ที่มีการเผชิญที่อยู่บนเขาหลายร้อยคน ก็น่าจะเกิดผลดีต่อสภาพทั่วไป สถานการณ์ขณะนี้ถือว่าดี ความสัมพันธ์ของทหาร ที่อยู่ทั้งสองฝ่าย ไม่ได้เผชิญหน้ากันในลักษณะตึงเครียด คงเป็นการแสดงสัญลักษณ์ถึงการรักษาอธิปไตยเหนือดินแดน ทั้งนี้ไม่มีการตึงเครียดในการใช้กำลังซึ่งกันและกัน” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
เมื่อถามว่า การปรับกำลังในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร หลายฝ่ายกังวลไทยจะเสียเปรียบหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ไม่ต้องห่วง การปรับกำลังพลจะมีความเท่าเทียมกัน ไม่เป็นที่เสียเปรียบได้เปรียบและไม่ให้เกิดปัญหาซึ่งกันและกัน ขวัญกำลังใจของทหารดีทุกพื้นที่ เมื่อถามว่า เบี้ยเลี้ยงทหารพรานที่มีอัตรา 21 บาทต่อวัน จะมีการอนุมัติเพิ่มเป็นกรณีพิเศษหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า คงยังไม่อนุมัติ ปัญหานี้เกิดจากสื่อวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทหารพรานไทยกินอยู่ไม่ดีเท่าที่ควร จึงอยากเรียนว่าเบี้ยเลี้ยงที่เขาได้ รับนอกเหนือเงินเดือน ก็จะมี 2 ส่วน คือ เบี้ยเลี้ยงที่ใช้ประกอบเลี้ยง แบ่งเป็น 15 บาท ค่าเสบียง 6 บาท ค่าเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติม รวม 21 บาทเป็นค่าประกอบเลี้ยงทุกวัน ส่วนอีก 10 บาทให้ไว้ติดตัวไว้ซื้ออาหารเพิ่มเติม
“ในพื้นที่เขาพระวิหารมีทหารพราน 6-7 กองร้อย ภาคใต้มีประมาณ 90 กองร้อย อยากเรียนให้ทราบว่าคนที่ทำงานเพื่อชาติ ทหารพรานกินอยู่วันละ 21 บาท แต่ก็กินดีอยู่ดีได้ขณะนี้ เมื่อได้เปรียบเทียบให้นายกรัฐมนตรี ฟังกับผู้ที่อยู่ในราชทัณฑ์ที่รับประทานวันละ 40 บาท บางแห่ง 60 บาท ซึ่งมากกว่าทหารพรานมาก ท่านก็บอกว่าจะแก้ไขให้ แต่คงมีขั้นตอนอีกเยอะ เกี่ยวกับกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณคงไม่ใช่ว่าจะอนุมัติจ่ายได้ แต่จะเรียนข้อมูลให้ทราบ” พล.อ.อนุพงษ์กล่าว
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเพิ่มเติม เมื่อค่ำวันเดียวกันว่า หลังการหารือปัญหาเขาพระวิหารระหว่างไทย-กัมพูชา ที่ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี กัมพูชาได้ถอนคำฟ้องที่ยื่นต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กรณีข้อพิพาทเขาพระวิหาร ระหว่างไทย-กัมพูชาแล้ว โดยนายฮอร์ นัม ฮง ยืนยันว่า การแก้ปัญหาของทั้ง 2 ประเทศ ควรต้องดำเนินไปตามกฎหมาย และคำนึงความสัมพันธ์อันดีเป็นหลัก ส่วนกำหนดการเจรจาเพื่อถอนกำลังทหารออกจากชายแดนไทย-กัมพูชา จะมีขึ้นอีกครั้งในวันที่ 29 ส.ค. โดยมีนายทหารระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่าย เป็นตัวแทนเจรจา ขณะที่คณะกรรมการพิจารณาแบ่งเขตแดนมีกำหนดประชุมกันอีกครั้ง เพื่อติดตามความคืบหน้าในเดือน ต.ค.
ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับที่18474 วันพุธ ที่ 20 สิงหาคม 2551

วันอังคารที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551


ด่วน !!! จดหมายเปิดใจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ลี้ภัยการเมือง

ด่วน! เผยจดหมาย "ทักษิณ ชินวัตร" เปิดใจลี้ภัยทางการเมือง ระบุเหตุผลในการลี้ภัย เนื่องจาก ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรม ในการนำกฏหมายมาใช้ย้อนหลัง และ ความไม่ปลอดภัยในชีวิต ต้องนั่งรถกันกระสุนตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทย ย้ำชัด
1.จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้มีผู้จงใจใส่ร้าย
2.ไม่ใช่คนเลว อย่างที่ถูกกล่าวหา และ
3หากยังมีวาสนาจะกลับมาตายบนผืนแผ่นดินไทย
แถลงการณ์เรื่อง “การไม่ไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ก่อนอื่นกระผมต้องกราบขออภัยต่อคณะผู้พิพากษาคดีที่ดินรัชดาและพี่น้องประชาชนผู้สนับสนุนผมทุกท่าน ที่ผลและภรรยาได้เดินทางมาพำนักที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ยึดหลักการประชาธิปไตยเหนือสิ่งอื่นใดและไม่ได้ไปรายงานตัวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมและครอบครัว พร้อมกับบุคคลผู้ใกล้ชิดเป็นผลพ่วงต่อเนื่องมาจากความต้องการขจัดผมออกจากการเมือง ด้วยการพยายามลอบสังหาร ตามมาด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร แต่งตั้งคณะบุคคลที่เป็นปฏิปักษ์มาสอบสวนดำเนินคดีเฉพาะตัวผมและครอบครัวร่างรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ แต่งตั้งบุคคลที่สนับสนุนการปฏิวัติรัฐประหารทั้งทางตรงและทางอ้อมเข่าไปเป็นกรรมการในองค์กรต่าง ๆ เพื่อดำเนินการกับผม เมื่อมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังคงเลือกพรรคพลังประชาชน ที่ผู้สมัครส่วนใหญ่มาจากพรรคไทยรักไทยเดิมให้กลับคืนมาทำหน้าที่ตัวแทนของพวกเขา ผมคิดว่าเหตุการณ์คงจะดีขึ้น ผมคงมีโอกาสได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์และได้ความเป็นธรรมจึงเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 ก.พ.51แต่เหตุการณ์กลับยิ่งเลวร้ายเพราะสิ่งเกิดขึ้นกับตัวผมและครอบครัวเป็นเสมือนผลที่เกิดจากต้นไม้ที่เป็นพิษ ผลของมันก็ย่อมเป็นพิษตามไปด้วย นั้นก็คือ ยังคงมีการสืบทอดระบอบเผด็จการในการจัดการ การเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตย ตามด้วยการแทรกแซงกระบวนยุติธรรม โดยเอาผลลัพธ์ที่อยากจะได้เป็นตัวตั้ง เพื่อจัดการกับผมและครอบครัว ซึ่งบุคคลกลุ่มนี้ถือว่าผมเป็นศัตรูทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงระบบกฎหมาย ระบบข้อเท็จจริง และการสอบสวนดำเนินคดีตามหลักนิติธรรมสากล ไม่ว่าจะเป็นกฏหมายว่าด้วยพยานหลักฐาน การบังคับใช้กฏหมายที่มีผลเป็นโทษย้อนหลัง ไม่ยอมใช้หลักฐานหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ ผมและครอบครัวได้ถูกดำเนินการอย่างไม่เป็นธรรมเช่นนี้มาอย่างต่อเนื่อง การแทรกแซงกระบวนยุติธรรมและการใช้ระบบ 2.มาตราฐานที่เห็นได้อย่างชัดเจน ทำให้ผมและครอบครัว พร้อมด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็นับว่าหนักหนาแล้ว แต่ยังเทียบไม่ได้กับการที่ระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และองค์กรที่เกี่ยวข้องที่มีเกียรติมีความน่าเชื่อถือสั่งสมมาเป็นเวลายาวนานต้องเสื่อมลง เพราะถูดนำมาใช้ทางการเมืองจนขาดความเป็นกลางซึ่งเป็นผลเสียต่อประเทศอย่างใหญ่หลวง นอกจากนี้ ผมได้รับข่าวสารตลอดเวลาว่า ชีวิตของผมไม่ปลอดภัยเดินทางไปไหนมาไหน จึงต้องใช้รถกันกระสุน นี่คือ ผลที่ได้รับจากการที่ผมอาสาเข้ามาทำงานรับใช้ประเทศชาติ ราชบัลลังก์ และประชาชน ด้วยความทุ่มเททำงานอย่างหนัก มาตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปี ที่ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี ผมจึงขอกราบขออภัยอีกครั้งหนึ่งที่ต้องตัดสินใจ มาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และขอยืนยันว่า

1. ผมและครอบครัวมีความจงรักภักดีต่อ สถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชวงค์ทุกพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ แม้ว่ามีผู้จงใจใส่ร้ายมาโดยตลอด
2. ถึงแม้ผมไม่ใช่คนดีสมบูรณ์แบบ แต่ผมขอยืนยันว่าผมไม่ได้เลวอย่างที่ถูกกล่าวหา เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมผมจะแถลงความจริงให้ทุกท่านทราบ วันนี้ยังไม่ใช่วันของผม ขอให้ผู้สนับสนุนผมอดทนอีกนิดนึงครับ
3. หากผมยังมีวาสนา ผมจะขอกลับมาตายบนผืนแผ่นดินไทย เฉกเช่นคนไทยทุกคนครับ

ด้วยความเคารพรัก
พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร

ที่มาwww.prachatouch.com

4 ข้อสังเกตเชิงทฤษฎีต่อขบวนการประชาชนในวาระ 15 ปี พฤษภาประชาธรรม[1]

พฤษภาประชาธรรม 2535 คือ การลุกขึ้นสู้ของขบวนการประชาชนเพื่อล้มเผด็จการทหารสุจินดาที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลชาติชายในปี 2534 และจบลงด้วยการปราบปรามอันรุนแรงของรัฐไทยที่กระทำต่อประชาชน ซึ่งนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งทางการเมืองและวิธีคิดโดยทั่วไปของสังคมไทยรวมทั้งภาคประชาชนไทยอย่างมากมาย ชัยชนะจากการต่อสู้ครั้งนั้นของประชาชนนำมาซึ่งกระแสการปฏิรูปการเมืองจนนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ในที่สุด เราอาจกล่าวได้ว่าผลของการต่อสู้อย่างดุเดือดของขบวนการประชาชนในปี 2535 ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับ ?ประชาชน? นี้ได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด และมีมาตราที่กำหนดโดยประชาชนมากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีรัฐธรรมนูญมา และต่อมารัฐธรรมนูญฉบับนี้เองได้กลายเป็นเงื่อนไขเชิงกติกาทางการเมืองให้รัฐบาลของไทยรักไทยสามารถขึ้นมามีอำนาจได้นับตั้งแต่ปี 2544 จนกระทั่งต้องล้มไปอันเนื่องมาจากเกิดการรัฐประหารของทหารที่เรียกกันสั้นๆว่า คปค. ในเดือนกันยายนปี 2549 และนำไปสู่การตั้งรัฐบาลเผด็จการทหารของสุรยุทธ์ จุลานนท์ในเวลาต่อมา

นับเป็นเวลาอย่างน้อยกว่า 15 ปีแล้วที่สิ่งที่พวกเราเรียกแบบหลวมๆว่า ?ขบวนการประชาชน? หรือ ?การเมืองภาคประชาชน? ได้มีบทบาทอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเหตุการณ์สำคัญๆ มาจนวันนี้เราอาจกล่าวได้ว่า การรัฐประหารในวันที่ 19 กันยา จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไร้การสนับสนุนอย่างแข็งขันของขบวนการประชาชนจำนวนหนึ่ง นี่เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า แม้บทบาทของขบวนการประชาชนจะมีสูงขึ้นอย่างไรก็ตามในสังคมการเมืองไทย แต่การที่รัฐประหาร 19 กันยา สามารถเกิดขึ้นได้ก็สะท้อนให้เราเห็นความอ่อนแอของการเมืองภาคประชาชนอย่างไม่อาจปฏิเสธได้